Talk : แม่กระต่ายไม่เลี้ยงลูก ตอนที่ 1 (วิธีการช่วยเหลือ)
เรื่องแม่กระต่ายไม่เลี้ยงลูกเป็นปัญหาที่ใหญ่มากในฟาร์มเพาะพันธุ์กระต่ายครับ
เนื่องจากถ้าเรามีกระต่ายในฟาร์มหลายร้อยตัว แล้วมีแม่หลายตัวไม่ให้นมลูกด้วยตัวเอง
โดยในฟาร์มขนาดใหญ่เราจะให้โอกาสแม่เพียงท้องแรกเท่านั้นที่เราจะช่วยแม่ไม่เลี้ยงลูกแต่ถ้าท้องครั้งต่อไปเราต้องคัดทิ้งแม่ตัวดังกล่าวทันทีครับ
สำหรับฟาร์มสายพันธุ์ หรือกระต่ายในบ้านของเราเองเราคงคัดทั้งไม่ได้หรอกครับ
เพราะฉะนั้นเราจะมาคุยถึงวิธีการช่วยเหลือคุณลูกกระต่ายจากแม่ไม่เลี้ยงกันครับ
สิ่งแรกที่เราต้องระบุได้อย่างแม่นยำคือ
แม่ไม่เลี้ยงจริงหรือไม่ เพราะตามธรรมชาติกระต่ายจะเข้าไปให้นมลูกเพียงวันละ 1-2
ครั้ง ครั้งละไม่กี่นาที ทำให้เราอาจเข้าใจผิดได้
ดังนั้นสิ่งสังเกตที่ชัดเจนที่สุดคือ milk line จากท้องลูก
ผมไม่ทราบว่าแปลเป็นไทยว่าอะไรดีแต่ milk line คือนมที่อยู่ในทางเดินอาหารของลูก
โดยสังเกตจากท้องลูกจะขยายออก และเห็นสีน้ำนมภายในตัวลูก ดังรูปที่ 1 ถ้าเราพบ
milk line เป็นเครื่องยืนยันว่าลูกสามารถกินนมจากแม่ได้นั่นเอง แต่ถ้าไม่พบลูกแห้งเหี่ยวเราต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า
แม่ไม่ให้นม หรือแม่ไม่มีนม ซึ่งจะมีวิธีแก้ไขแตกต่างกันออกไป หรือในกรณีแม่ทำร้ายลูกโดยพบรอยขีดข่วนที่ตัวลูก
หรือแม่กินลูกเราก็ต้องแยกลูกออกจากแม่เพื่อให้ลูกรอดนั่นเอง
วิธีการดูว่าแม่มีนมหรือไม่สามารถทำได้โดยจับแม่มาให้นมแก่ลูก
ลูกจะมีสัญชาติญาณในการกินนม
แล้วเรารอซักพักเราจะพบว่าลูกมีท้องขยายใหญ่ขึ้นพร้อมกับ milk line ก็จะยืนยันได้ว่าแม่มีนมนั่นเอง
วิธีการช่วยเหลือในปัจจุบันมีสามแบบโดยจะเลือกใช้ตามปัจจัยที่เรามี
1.ฝากเลี้ยง
เป็นวิธีที่นิยมใช้ในฟาร์มกระต่ายที่เราไม่มีเวลาดูแลมาก
การฝากเลี้ยงทำเพียงนำลูกกระต่ายไปให้แม่ที่มีลูกอยู่โดยการคัดเลือกคือ ควรให้เป็นแม่ที่มีลูกอายุใกล้เคียงกัน โดยแม่ 1 ตัวไม่ควรเลี้ยงลูกเกิน 8 ตัวหรือน้อยกว่านี้ตามความ สามารถของแม่ การเลือกแม่ที่ลูกแก่เกินไปทำให้มีการแตกขนาดของลูกเกินไปได้
ดังรูปที่ 2
![]() |
รูปที่ 1 แสดง milk line ของกระต่ายอายุ 1 วัน รูปที่ 2 แสดงกระต่ายแตกขนาด |
2.ให้นมสังเคราะห์ ปัจจุบันมีนมสังเคราะห์ที่สามารถให้เป็นอาหารลูกกระต่ายได้
แต่อย่างไรก็ตามการนำเชื้อที่ดีเข้าไปในทางเดินอาหารย่อมมีความสำคัญเช่นกัน
(ผมจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป)
ซึ่งวิธีดังกล่าวผมเคยได้ทำแต่โอกาสรอดค่อยข้างต่ำลูกกระต่ายไม่แข็งแรง
ถ้าใครมีวิธีเสนอแนะแล้วได้ผลสำเร็จดีก็บอกกล่าวกันได้ครับ
จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับผม โดยวิธีดังกล่าวจะใช้ในกรณีแม่ไม่มีนมให้ลูกเท่านั้นถึงจะเลือกวิธีนี้
3.การจับแม่ให้นมลูก วิธีนี้เป็นวิธีที่รอดสูงสุดครับ
เท่าที่ผมทำมาประมาณ 5 ครั้งลูกรอดทุกตัวแต่ต้องลองทำอีก เพื่อดูว่าเป็นวิธีการที่ดีจริงหรือไม่ครับ โดยวิธีการนี้ต้องใช้ในแม่ที่มีนมแต่ไม่ยอมเลี้ยงลูก
หรือแม่มีนมแต่ทำร้ายลูกครับ วิธีการง่ายๆคือเราจะแยกลูกกับแม่กระต่ายอย่างถาวร
แล้วเราจะจับแม่ไว้แล้วให้ลูกกินนมวันละสองครั้งจนพบ milk line ในลูกทุกตัวโดยทำวันละสองครั้งครับ ดังรูปที่ 3 และ 4 โดยต้องระวังไม่ให้แม่กระทืบลูกครับ โดยทุกวันเราจะจับตรงรูทวารของลูกทุกวันเพื่อให้มีอุจจาระของลูกออกมา หรือใช้สำลีชุบน้ำอ่อนเช็ดก็ได้ครับ โดยอุจจาระจะเป็นเม็ดสีดำเล็กเท่าปลายเข็มหมุดครับผม
ทำต่อไปเรื่อยๆจนลูกกระต่ายสามารถเดินได้เองแล้วเราจะปล่อยให้อยู่กับแม่ส่วนมากจะเป็นตอนอายุลูกกระต่ายประมาณ
18-21 วันครับ รวมทั้งมีถาดน้ำ และอาหารให้ลูก โดยทำไมต้องให้อยู่กับแม่ผมจะกล่าวถึงรายละเอียดในข้าง ท้ายของบทความครับ แต่ถ้าแม่ทำร้ายลูกหรือมีเหตุอันจำเป็นที่ลูกจะอยู่กับแม่ไม่ได้
ให้เริ่มนำน้ำและอาหารเข้าให้ลูกในช่วงวันที่ 18-21 พร้อมทั้งนำ
soft feces หรืออุจจาระกลางคืน
ของกระต่ายที่สุขภาพดีหรือของแม่กระต่ายนำมาให้ลูกกินด้วย
โดยการให้นมนั้นให้ถึงประมาณวันที่ 42-56 วันหลังคลอด ซึ่งกระบะเลี้ยงควรมีขนของแม่ หรือสำลีให้ลูกในระยะไม่มีขนด้วย
![]() |
รูปที่ 3 วิธีการจับแม่ให้นมลูกกระต่าย รูปที่ 4 ลูกกระต่ายอายุ 14 วันที่แม่ไม่เลี้ยง บางทีอาจใช้อาหารล่อให้แม่นิ่งก็ได้ |
โดยหลักการที่สนับสนุนการช่วยเหลือดังกล่าวข้างต้น
จะกล่าวในบทความตอนต่อไปครับ
______________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด
______________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น