หัวข้อ

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การประชุมวิชาการกระต่ายที่ บาหลี อินโดนีเชีย


     
          หลังจากที่ผมกลับจากการสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับกระต่ายที่ประเทศอินโดนีเชีย ผมได้เขียนรายงานส่งมหาวิทยาลัยที่อิตาลีเป็นที่เรียบร้อย ผมจึงถือโอกาสนี้ถสรุปเนื้อหาของการประชุมวิชาการครั้งนี้ดังที่จะกล่าวดังต่อไปนี้

1. อัตราการผลิตกระต่ายของแต่ละประเทศในเอเชีย

         ประเทศในแถบอาเซียนที่มารายงานความก้าวหน้าคือ อินโดนีเชีย เวียดนาม และมาเลเซีย ภาพโดยรวมของ การผลิตกระต่ายในประเทศดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยคือ กระต่ายถูกเน้นหนักไปในการผลิตเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง ส่วนกระต่ายเนื้อก็ติดปัญหาอยู่ที่ผู้บริโภครู้สึกว่ากระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงไม่ใช้เป็นอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบทำให้การผลิตกระต่ายเนื้อค่อนข้างเติบโตช้ากว่ากระต่ายสวยงาม อย่างไรก็ตามประเทศเวียดนามได้รับการตอบรับที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน เนื่อง จากประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนกที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นเกษตรกรจึงเปลี่ยนจากการเลี้ยงไก่เป็นกระต่ายเพื่อใช้เป็นเนื้อ รวมทั้งรัฐบาลให้การสนับสนุน และผู้บริโภคยอมรับการบริโภคเนื้อกระต่าย ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผลผลิตของประเทศเวียดนามมีแนวโน้มไปในทางที่ดีมากขึ้นตามลำดับ

            ในอีกด้านหนึ่งยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ก็คือประเทศจีน ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนการผลิตของกระต่ายอยู่ที่ประมาณ 5% ของการผลิตกระต่ายทั่วโลก หลังจากนั้นรัฐบาลจีนได้ส่งเสริมทั้งด้านวิชาการ และส่งเสริมให้ฟาร์มเลี้ยงกระต่ายมากขึ้น ทำให้ปีนี้จีนได้รายงานว่ากำลังการผลิตของจีนก้าวประมาณ 50% ของการผลิตกระต่ายทั่วโลก 

2. การใช้วัตถุดิบทดแทนในอาหารกระต่าย

        เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น หรือบางช่วงที่มีการขาดแคลนวัตถุดิบ ดังนั้นการศึกษาวัตถุดิบทดแทนจึงได้รับการศึกษามากขึ้นตามลำดับ โดยวัตถุดิบที่ทดแทนดังเช่น วัตถุดิบเหลือใช้จากโรงงาน วัชพืช เป็นต้น ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักคือการลดต้นทุนด้านอาหาร ซึ่งเป็นงานที่น่าสนใจที่สามารถนำมาศึกษาในประเทศไทยได้เช่นกัน

3. สารเสริมเพื่อให้ผลผลิต และสุขภาพกระต่ายดีขึ้น

                เนื่องจากการเลี้ยงระบบเปิดกระต่ายมีโอกาสที่จะป่วยจนก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวมทั้งถ้ากระต่ายโตไวขึ้น หรือให้คุณภาพของผลผลิตที่ดีมากขึ้นก็จะส่งผลให้ฟาร์มได้รับผลประโยชน์ในการขายกระต่ายดีขึ้นด้วย โดยสารเสริมก็มีหลายอย่างที่ได้ทำการศึกษา ดังเช่น probiotic, prebiotic, organic acid, enzymeและ พืชสมุนไพร โดยที่ผมได้นำเสนอผลงานเรื่องการใช้สมุนไพรเพื่อพัฒนาสุขภาพ และส่งเสริมคุณภาพเนื้อที่ดีมากขึ้น โดยผมหวังว่าจะได้เขียนเรื่องสารเสริมกับการใช้ในกระต่ายในโอกาสต่อไป

4. โรคในกระต่าย

          มีการศึกษาเกี่ยวกับโรคกระต่ายในประเทศต่างๆ แต่ปัญหาหลักที่คุยกับนักวิชาการของแต่ละประเทศคือ ปัญหาเกี่ยวกับเชื้อบิด (Coccidiosis)โดยถือว่าโรคดังกล่าวสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก และพบได้บ่อย ส่วนปัญหาที่สองคือ ไรหู ซึ่งปัญหาดังกล่าวตรงกันข้ามกับฟาร์มในประเทศยุโรป ซึ่งปัญหาส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องโรคมีดังนี้ ในโซนอาเซียน เชื้อก่อโรค และไร สามารถมีชีวิตอยู่รอดในสภาพแวดล้อมได้ง่ายกว่าเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อีกทั้งฟาร์มส่วนมากเป็นระบบเปิดทำให้ไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้ ในทางกลับกันฟาร์มในยุโรปเป็นระบบปิด และมีฤดูหนาวที่ยาวนานทำให้เชื้อไม่สามารถมีชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมได้ ส่วนปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหารในยุโรปน่าจะเป็นปัญหามาจากฟาร์มจะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียว เลี้ยงหนาแน่น การดูแลรายตัวย่อมไม่ทั่วถึง ส่วนในแถบบ้านเรามักมีการเสริมหญ้า เลี้ยงไม่หนาแน่น และการเลี้ยงที่ค่อยข้างใส่ใจมากกว่า จึงส่งผลให้ปัญหาในระบบอาหารน้อยกว่าในยุโรป 

            จริงๆแล้วเนื้อหามีรายละเอียดมากกว่านี้ครับ ถ้าต้องการข้อมูลในส่วนใดเพิ่มเติมสามารถติดต่อมาได้ครับ สำหรับงานประชุมครั้งต่อไปที่ผมจะเข้าร่วมคือ งานประชุมกระต่ายโลก ซึ่งจะจัดในประเทศจีน ประมาณกลางปี 2016 ผมก็ยังหวังว่าจะได้นำเสนอผลงาน และได้เก็บประสบการณ์ดีๆกลับมาฝากอีกนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการจำกัดการให้อาหารในกระต่ายหลังอย่านม (ตอน2/2)



4.
ข้อคิดเห็น และการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
Opinions and adaptation for usage in Thailand


          ในบทนี้ผมจะเสนอความคิดเห็น และเสนอแนะวิธีประยุกต์ใช้นะครับผม การเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆในฟาร์มซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรที่ได้กระทำเป็นประจำทุกวันนั้น ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและต้องทำความเข้าใจกับเจ้าของฟาร์มเป็นอย่างดี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆไม่ได้มีผลกระทบต่อเจ้าของฟาร์มที่ต้องทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนกิจวัตร กระต่ายในฟาร์มที่ได้คุ้นชินกับการจัดการต่างที่ได้ทำเป็นเวลานานการปรับเปลี่ยนนั้นย่อมส่งผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งเราคาดหวังว่าผลกระทบที่ออกมาจะเป็นในทางบวก ซึ่งได้นำเสนอแผนภูมิลทางด้านล่างลำดับความคิด และวิธีการประยุกต์ใช้


           ถ้าฟาร์มไม่มีปัญหาเรื่องการตายของลูกกระต่าย หรือมีอัตราการตายต่ำมาก (น้อยกว่าร้อยละ 15) ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้การจำกัดอาหาร ในความคิดเห็นของผมและจากที่ผมเก็บข้อมูลอัตราการตายของลูกกระต่ายในประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเนื่องจากเรามีความสามารถในการดูแลลูกกระต่ายที่ดีกว่าในต่างประเทศ เนื่องจากจำนวนกระต่ายในแต่ละฟาร์มมีจำนวนไม่มาก (น้อยกว่า 200 ตัว) ดังนั้นการดูแลถึงทั่วถึง แต่ถ้าเราต้องการเลี้ยงกระต่ายมากกว่า 200 ตัวขึ้นไป วิธีการจำกัดอาหารอาจจะจำเป็นก็ได้