หัวข้อ

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Talk:ไข้น้ำนม3


Talk: ไข้น้ำนมในกระต่าย 3 (หลักการ)  




ฟอสฟอรัส ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของกระดูก และการเผาผลาญพลังงาน ในกระต่ายเด็กจะสามารถดูดซึมฟอสฟอรัสได้ดีกว่าในกระต่ายโตเนื่องจากต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่า ฟอสฟอรัสที่ดูดซึมจากลำไส้เล็กส่วนต้น และส่วนกลาง
ฟอสฟอรัสในอาหารของกระต่ายจะอยู่ในรูปของ Phytate phosphorus ซึ่งเอนไซม์จากกระต่ายไม่สามารถย่อยฟอสฟอรัสออกมาใช้งานได้ แต่สามารถย่อยด้วย Phytase จากแบคธีเรียในซีกั่ม (Caecum) ได้ ซึ่งฟอสฟอรัสที่ย่อยแล้วจะออกมากับอุจจาระกลางคืนและจะถูกกระต่ายกินกลับเข้าไปเพื่อนำฟอสฟอรัสไปใช้ในร่างกาย นอกจากนี้ยังพบ Phytase ในข้าวสาลี ดังนั้นถ้าผสมข้าวสาลีในอาหาร กระต่ายก็สามารถนำฟอสฟอรัสได้ทันทีไม่ต้องรอการย่อยจากแบคธีเรีย
สัดส่วนของแคลเซียม และฟอสฟอรัสมีความสำคัญมากโดยสัดส่วนที่ดีที่สุดคือ แคลเซียม:ฟอสฟอรัส=2:1 การที่แคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลให้มีความผิดปกติต่อร่างกาย
แมกนีเซียมส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในกระดูกร้อยละ 70 ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยปฎิกิริยาต่างๆ (Cofactor) การขาดแมกนีเซียมส่งผลให้ การเจริญเติบโตที่ช้า ขนร่วง ขนไม่มันเงางาม และมีพฤติกรรมกินขนตัวเอง กระต่ายควรได้รับปริมาณแมกนีเซียมในช่วง 0.3-3 กรัมต่อกิโลกรัม โดยปกติมักให้ในขนาด 1.7 กรัมต่อกิโลกรัม แมกนีเซียมที่เกินความจำเป็นจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ
ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (PTH) จะสามารถทำงานได้ต้องประกอบไปด้วยแมกนีเซียมและความเป็นกรดด่างที่พอเหมาะ (ดังรูปที่ 2) รูปซ้ายสุดหรือหมายเลขหนึ่ง เมื่อระดับความเป็นกรดด่างพอเหมาะและมีแมกนีเซียมมากเพียงพอสามารถทำให้ PTH สามารถทำงานได้ ในรูปกลางหรือหมายเลขสอง มีความเป็นกรดด่างเปลี่ยนไปส่งผลให้ตัวรับ (Receptor) มีการเปลี่ยนรูปไปเนื่องจากตัวรับคือโปรตีนที่เปลี่ยนแปลงตามความเป็นกรดด่างจึงไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากการทำงานของฮอร์โมนใช้ทฤษฎี Lock and key (ทฤษฏีแม่กุญแจ กับลูกกุญแจ) คือต้องมีรูปร่างที่สามารถเข้ากันได้อย่างพอดีถึงจะทำให้มีกลไกทำงานต่อไปได้ เปรียบเสมือนแม่กุญแจ กับลูกกุญแจ รูปทางขวาหรือรูปที่3 มีปริมาณของแมกนีเซียมในเลือดน้อยกว่าปกติ เนื่องจาก Adenyl cyclase complex (ตัวสีฟ้าด้านล่าง) ต้องการแมกนีเซียมมาเป็นตัวช่วย (Coenzyme) ในการทำงานต่อไป เมื่อแมกนีเซียมไม่เพียงพอก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้นั่นเอง
ปกติแมกนีเซียมสามารถพบในพืชอาหารสัตว์ แต่ในบางกรณีที่พืชดังกล่าวปลูกในดินที่มีแมกนีเซียมต่ำ ส่งผลให้พืชในพื้นที่ดังกล่าวเก็บแมกนีเซียมไว้ในปริมาณน้อยกว่าปกติ แล้วส่งผลให้สัตว์ที่กินพืชดังกล่าวได้รับแมกนีเซียมในระดับที่ไม่เพียงพอ

รูปที่ 2 แสดงการทำงานของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (PTH) ในสภาวะแตกต่างกัน

ในบทความต่อไปจะกล่าวถึงงานวิจัยว่ากระต่ายระดับแคลเซียมในระยะท้อง ให้นมลูก และภาวะปกติ มีความแตกต่างอย่างไร

________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด




Talk:ไข้น้ำนม2



Talk: ไข้น้ำนมในกระต่าย 2 (หลักการ)  



ในส่วนนี้ผมจะพูดถึงหลักการนะครับ ก่อนอื่นเราควรรู้จักกับแคลเซียมและแร่ธาตุที่มีความเกี่ยวโยงกับแคลเซียม ซึ่งก็คือ ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม
แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่มากกว่าร้อยละ 98 สะสมอยู่ในกระดูกและฟันซึ่งในส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างค้ำจุน ซึ่งฟันกระต่ายยาวประมาณ 2 มิลลิเมตรต่อสัปดาห์จึงต้องการแคลเซียมเป็นอย่างมาก อีกร้อยละ 2 จะอยู่ในกระแสเลือดซึ่งทำหน้า ที่เกี่ยวกับ การทำงานของหัวใจ การหดตัวของกล้ามเนื้อ การแข็งตัวของเลือด รักษาสมดุลของอิเล็กโทรไลท์ การทำงานของเซลล์ประสาท การทำงานของฮอร์โมน ทำให้ผนังเซลล์แข็งแรง และเป็นส่วนประกอบในน้ำนม
กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีปริมาณแคลเซียมในน้ำนมและในเลือดสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่น (ตารางที่ 1) ซึ่งสาเหตุก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ โดยระดับแคลเซียมในน้ำนมจะสูงกว่าสัตว์อื่นประมาณ 2 เท่า ดังนั้นในกระต่ายให้นมลูกจึงเสียแคลเซียมจากร่างกายมาก ปริมาณอาหารที่ระดับแคลเซียมสูง จะส่งผลต่อระดับของแคลเซียมในกระแสเลือดโดยตรง

ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบระดับแร่ธาตุในน้ำนมของ โค แกะ สุกร และกระต่ายปกติ
แร่ธาตุ
โคนม
แกะ
สุกร
กระต่าย
โซเดียม
0.45
0.45
0.5
0.96
โพแทสเซียม
1.5
1.25
0.84
1.86
แคลเซียม
1.2
1.9
2.2
4.61
แมกนีเซียม
0.12
0.15
-
0.27
ฟอสฟอรัส
1.9
1.5
1.6
2.78
คลอไรด์
1.1
1.2
-
0.66
ดัดแปลงมาจาก Guegen et al., 1988; Partridge and Gill, 1993; El-Sayiad et al., 1994; Maertens et al., 2006

การดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เล็กสามารถผ่านทาง Acive vitamin D dependent transcellular transport ซึ่งต้องใช้พลังงานและวิตามินดีถึงจะทำงานได้ และอีกทางคือ Passive paracellular diffusion ที่ไม่ต้องใช้พลังงานหรือวิตามินดี โดยใช้ความแตกต่างของความเข้มข้นของแคลเซียมระหว่างในทางเดินอาหารกับในระบบเลือด ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นทางหลักในการดูดซึมแคลเซียมในกระต่าย การดูดซึมถูกขัดขวางจากอาหารที่มี Phytate (ดังเช่น ถั่ว ธัญพืช), Oxalate (ดังเช่น ผักขม อัลฟาฟ่า), Acetates เป็นส่วนประกอบเนื่องจากจะจับกับแคลเซียมทำให้ไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย พืชชนิดอื่นที่มีแคลเซียมสูงแต่มีออกซาเลตต่ำดังเช่น บล็อคโคลี่ เป็นต้น รวมทั้งยาเพนนิซิลลิน และคลอแรมฟีนิคอลก็สามารถจับกับแคลเซียมได้
กลไกการรักษาสมดุลของแคลเซียมในมีแคลเซียมอยู่ในกระแสเลือดในปริมาณปกติมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การรักษาสมดุลของแคลเซียมเป็นดังนี้ (รูปที่1) เมื่อร่างกายมีระดับแคลเซียมในเลือดลดลงจะมีการกระตุ้นให้ต่อมพาราไทรอยด์หลั่ง Parathyroid hormone (PTH) ออกมาจะกระตุ้นให้มีการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น และให้ไตดูดแคลเซียมกลับขับฟอสฟอรัสออกมากขึ้น โดยผลทั้งสองอย่างทำให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นวิตามินดียังช่วยให้มีการดูดซึ่งแคลเซียมมากขึ้นโดยวิตามินดีมากจาก 7-dehydrocholesterol ที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังเมื่อโดนแสงแดดก็จะกลายเป็นวิตามินดีที่ยังใช้งานไม่ได้ และวิตามินดีที่ใช้งานไม่ได้ก็สามารถมาจากอาหารได้ จากนั้นจะถูกขนส่งสู่ตับโดยจะเปลี่ยนเป็น 25(OH)D ด้วยเอนไซม์ 25-hydroxylase จากนั้นไปยังไตเพื่อเปลี่ยนเป็น 1,25(OH)2D ด้วยเอนไซม์ 1-hydrosylase ซึ่งจะทำงานก็ต่อเมื่อถูกกระตุ้นด้วย PTH สาร 1,25(OH)2D เป็นรูปทำงานของวิตามินดีซึ่งจะไปที่ลำไส้เล็กทำให้สามารถดูดซึมแคลเซียมได้มากขึ้น จากนั้นร่างกายก็จะเข้าสู่ภาวะสมดุล

รูปที่ 1 แสดงการรักษาสมดุลแคลเซียมเมื่อมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง

ในกรณีที่แคลเซียมในเลือดสูงขึ้นจะกระตุ้นให้ C-cell ของต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนแคลซิโนินซึ่งส่งผลให้มีการนำแคลเซียมไปเก็บในกระดูกมากขึ้น เพิ่มการขับแคลเซียมออกทางไต ลดการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร ซึ่งส่งผลให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดลดลงจนกลับมาสู่สมดุล ทางหลักในการขับแคลเซียมออกจากร่างกายคือ ปัสสาวะ ในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเรามักพบว่าปัสสาวะกระต่ายมีสีขาวขุ่น เป็นตะกอน และเมื่อกินอาหารที่มีระดับแคลเซียมสูงดังเช่น อัลฟาฟ่า แครอท เป็นต้น ปัสสาวะกระต่ายก็จะมีสีขาวขุ่นมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถ้าระดับแคลเซียมมากเกินไปแคลเซียมจะถูกขับมาทางอุจจาระด้วย ระดับแคลเซียมในเลือดที่มากกว่า 40g/kgBW เป็นระยะเวลานานส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว (Urolithiasis) หรือ การสะสมแคลเซียมในเนื้อเยื่อ (Calcification of soft tissue) ดังนั้นระดับแคลเซียมที่เหมาะสมในกระต่ายเลี้ยงคือ ประมาณร้อยละ 0.6-1 ต่ออาหารทั้งหมด

รูปที่ 1 แสดงการรักษาสมดุลแคลเซียมเมื่อมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น

ดังนั้นฮอร์โมนพาราไทรอยด์จึงมีความสำคัญในการทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงมากเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ในบทความต่อไปผมจะพูดถึงฟอสฟอรัส และแมกนีเซียมครับ

________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด







วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Talk:กระต่ายคอเอียง4



Talk: กระต่ายคอเอียง ตอนที่ 4 (แนวทางในอนาคต ตอนจบ)




ในที่สุดก็มาถึงตอนจบซักที เข้าเรื่องเลยแล้วกันครับ ผมจะให้คำแนะนำในแต่ละกรณีกันไปนะครับ เผื่อจะเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
                1. กรณีเจ้าของฟาร์มปลอดโรค สิ่งแรกที่ต้องรู้เลยว่าฟาร์มปลอดโรคจริงหรือไม่ ก่อนอื่นเลยเพื่อประหยัดต้นทุนเราจะตรวจหาแอนติบอดี้ในฟาร์มก่อน โดยวิธีการสุ่ม หรือทั้งหมดก็แล้วแต่ฟาร์ม ถ้าให้ผลลบนับว่าโชคดีสุดๆ ที่เหลือก็แค่การป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ามา แต่ถ้าให้ผลบวกก็ดูกันเลยครับว่าเชื้ออยู่ที่ตัวไหนด้วยการตรวจหาตัวเชื้อ ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในข้อ 2 สำหรับฟาร์มที่ไม่มีเชื้อนั้น ต้องป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ามาครับ สามารถทำโดยกักโรคควรนานเกิน 2 เดือน แล้วตรวจหาแอนติบอดี้ว่ากระต่ายที่รับเข้ามามีเชื้อหรือไม่ รวมทั้งสามาถตรวจหาตัวเชื้อร่วมด้วย
                2. กรณีเจ้าของฟาร์มมีโรค แนะนำให้ยาทั้งฟาร์มครับ เนื่องจากเชื้อสามารถติดต่อไปได้ทั้งฟาร์ม แต่อย่างไรก็ตามอยู่ที่ว่าผลบวกที่เกิดขึ้นนั้นได้จากการตรวจหา ตัวเชื้อ หรือแอนติบอดี้ ถ้าเป็นการตรวจหาตัวเชื้อก็บอกได้แน่นอนครับว่ามีเชื้อแน่ๆ แต่ถ้าผลตรวจพบแอนติบอดี้ก็ไม่แน่ว่ากระต่ายตัวนั้นอาจมีเชื้ออยู่ หรือเป็นกระต่ายที่สามารถต่อสู้กับเชื้อได้ ทำให้มีสองหลักการที่ใช้ในต่างประเทศดังนี้
                                2.1 จากรายงานจากประเทศไต้หวัน อันนี้จะออกแนวทำลายแต่โรคหยุดไว สามารถสร้างฟาร์มปลอด โรคได้อย่างรวดเร็ว หลักการคือตรวจเลือดกระต่ายทุกตัวด้วยการตรวจหาแอนติบอดี้ ตัวไหนมีบวกก็คัดทิ้งทันที จากรายงานใช้เวลาประมาณ 45 วันก็สามารถเป็นฟาร์มปลอดโรค จากนั้นเราก็กักโรคโดยตรวจหาแอนติบอดี้อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ข้อดีคือโรคหยุดไว ข้อเสีย กระต่ายโดนปลดทิ้งเยอะ บางที่กระต่ายที่เราปลดไปอาจจะเป็นกระต่ายที่สามารถต่อสู้กับเชื้อก็ได้ และถ้ามีเชื้อเล็ดลอดเข้ามาในฟาร์มอีก ความเสียหายที่เกิดค่อนข้างรุนแรงมาก
                                2.2 อีกฝั่งประเทศไทยก็ออกทฤษฎีมาว่า เย้ย!!! ที่ไทยออกกับเค้าด้วยเหรอ ขอโทษทีครับไม่ใช่ของไทยหรอก จากที่ผมทำงานวิจัยเรื่องนี้ก็พยายามหาทางแก้ไข อันนี้เป็นทฤษฎีที่ผมคิดขึ้นมาเองครับ ถ้าใครมีความคิดว่าตรงไหนผมคิดไม่ถูกต้อง บอกกันได้นะครับ จะได้เป็นการแบ่งประสบการณ์กัน เพราะผมก็ไม่ได้บอกว่าวิธีของผมเป็นวิธีที่ถูกต้อง เนื่องจากผมก็ยังไม่เคยทำการทดลองพิสูจน์
                                หลักการที่ว่าผมคิดจากถ้าผมสั่งให้ทำลายการต่ายมากมายขนาดนั้นเจ้าของฟาร์มต้องไม่พอใจ และเสียเงินเป็นอย่างมาก ซึ่งจากที่ผมเก็บตัวอย่างผมว่าหลายที่ในประเทศของเราก็มีเชื้ออยู่แล้ว พูดง่ายๆก็คือหนีไปไหนไม่รอด ดังนั้นผมจึงคิดว่า เราต้องอยู่กับมันให้ได้ เราจะอยู่กับมันได้ไง หลักการก็คือ เชื้อนี้คือเชื้อฉวยโอกาส หมายความว่า ถ้าร่างกายสัตว์แข็งแรงร่างกายเราก็สามารถทำลายเชื้อนี้ได้ครับ แต่การจัดการเรื่องสุขภาพต้องดีมาก เพราะปัญหาของประเทศเราคือ ฤดูร้อน และปลายฝนต้นหนาว ตอนนี้ภูมิคุ้มกันแย่แน่นอนจัดการยากมาก และเป็นช่วงที่เชื้อสามารถแสดงฤทธิ์ออกมากได้ ดังนั้นผมเสนอวิธีการเป็นข้อๆดังนี้ครับ
                                                2.2.1 คัดทิ้งกระต่ายที่แสดงอาการ เนื่องจากกระต่ายกลุ่มนี้ถือว่าไม่สามารถต่อสู้กับโรคได้ และยังจะแพร่เชื้อต่อไปอีก ถึงจะรักษาให้หายการให้ผลผลิตก็ไม่ดีเท่าเดิม
                                                2.2.2 ให้ยาแก่กระต่ายก่อนภูมิคุ้มกันจะตก ถ้าเราคิดนะครับ ถ้าผมมีกระต่ายอยู่ 100 ตัว สมมติติดเชื้อเรียบร้อยไปแล้ว 40 ตัว แสดงอาการ 5 ตัว ดังนั้นผมคัดทิ้งออกไปเหลือ 35 ตัวที่มีเชื้อ แต่ปัญหาคือ ในความจริงแล้วตาเราจะเห็นแค่ กระต่ายป่วย 5 ตัว ปกติ 95 ตัว ซึ่งตัวปัญหาที่ไม่แสดงอาการ 35 ตัวเนี่ยแหล่ะครับ ที่เราต้องจัดการ อย่างที่กล่าวไปเชื้อนี้เป็นเชื้อฉวยโอกาส ถ้าเราเลี้ยงดี สภาพอากาศดี เชื้อที่อยู่ในกระต่ายที่มีเชื้อจะออกมาน้อยมาก แต่เมื่อในช่วงอากาศไม่ดีอย่างที่ผมได้กล่าวไปกระต่ายที่มีเชื้ออยู่จัดหนัก พ่นเชื้อออกมาทำให้กระต่ายปกติติดเชื้อได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงไป ดังนั้นแก้ไขก็คือการให้ยากระต่ายทั้งฟาร์ม ยาจะทำให้กระต่ายที่พ่นเชื้อไม่พ่นเชื้อ และกระต่ายปกติก็ได้รับการป้องกัน
                                                ตอนนี้บางคนอาจบอกว่าแล้วเชื้อที่ออกมาเล็กน้อยตอนที่สภาพอากาศดี และเราไม่ได้ให้ยาเราจะทำยังไง จุดที่สำคัญมากที่จะสร้างกระต่ายเทพ คือกระต่ายที่ทนทานต่อเชื้อตัวนี้ มันจะเกิดขึ้นโดยที่กระต่ายปกติได้รับเชื้อในปริมาณน้อยในขณะที่ร่างกายแข็งแกร่ง ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะจัดการเชื้อได้ ซึ่งได้มีการยืนยันจากงานทดลองแล้ว ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ได้มีแค่คนทำลายเท่านั้น ยังมีกลุ่มเซลล์ที่จะสามารถจดจำเชื้อ (Memory cell) เมื่อเจอเชื้ออีกครั้งก็สามารถกระตุ้นภูมิและต่อสู้กับเชื้อได้รวดเร็วกว่าครั้งแรก ซึ่งในเชื้ออื่นๆพบว่าร่างกายมีการตอบสนองดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นในทางเดียวกันกับเชื้อตัวนี้ แต่ก็ต้องรอการทดลองยืนยันต่อไป
                                                เพราะฉะนั้นถ้าทฤษฎีที่ได้กล่าวไปได้รับการยืนยันจากการทดลอง เราจะสามารถสร้างกระต่ายเทพ และอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข แต่ก็ต้องรอการทดลองยืนยัน แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ก็ไม่ต้องใช้วิธีการตรวจที่ยุ่งยาก
                3. กรณีสัตว์เลี้ยง จุดยากของการทำฟาร์มพ่อแม่พันธุ์แท้ กับสัตว์เลี้ยงคือการไม่มีคำว่า “คัดทิ้ง” แต่ไม่ต้องกลัวครับ ทุกอย่างมีทางออก อยากแรกรักษาเลยครับ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น แล้วดูอาการกันไป เพราะโรคนี้ถ้าได้รับการรักษาไม่ถึงตายถ้าเรารักษาทันท่วงที สำหรับการตรวจผมแนะนำการตรวจหาตัวเชื้อ แต่ต้องรอวิธีตรวจที่กำลังพัฒนาอยู่ เนื่องจากเราต้องรู้ว่าเชื้อจะออกมากับปัสสาวะช่วงไหน จะได้เก็บตัวอย่างได้ และต้องมีวิธีตรวจที่มีความแม่นยำมากเพียงพอ สำหรับคนที่จะซื้อก็ต้องเตรียมใจด้วยครับ อย่างที่บอกวิธีการตรวจในกระต่ายมีชีวิตยังไม่มีวิธีที่ดีพอ อย่างไรก็ตามสำหรับสัตว์เลี้ยงผมยังใช้หลักเดิมเสมอว่า ไม่มีสัตว์ตัวไหนแทนกันได้ ถ้าผมได้ข้อมูลการรักษามากกว่านี้ผมจะรีบนำมาลงให้ทันทีครับ
                หวังว่าคงได้รับความรู้มากขึ้นนะครับ เนื่องจากเชื้อตัวนี้ก็ยังเป็นที่สนใจต่อนักวิจัยอยู่ในขณะนี้ ถ้ามีองค์ความรู้มากกว่านี้จะรีบเอามาลงให้ ส่วนตัวผมก็คงต้องหาทุนวิจัยทำต่อไปจนกว่าฟาร์มในไทยจะต่อสู้กับเชื้อตัวนี้ได้ สุดท้ายผมของฝากว่า ถ้ามีคนในบ้านมีภูมิคุ้มกันบกพร่องดังเช่น เอดส์ ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ยามะเร็ง เป็นต้น ให้รีบนำกระต่ายที่สงสัยออกจากบ้าน และติดต่อแพทย์ที่รักษาอยู่ เนื่องจากเชื้อสามารถติดคนกลุ่มดังกล่าวได้ ซึ่งคนปกติก็มีรายงานว่าติดเชื้อนี้ได้ ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องหาหลักฐานยืนยันกันต่อไปครับ
____________________________________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Talk:ไข้น้ำนม1


Talk: 
ไข้น้ำนมในกระต่าย 1 (การช่วยเหลือ)  



              พอดีวันอังคารที่ผ่านมาเพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นหมออยู่โทรมาถามเรื่อง ไข้น้ำนมในกระต่าย ผมก็ให้รักษาประคับประ คองแม่ไปก่อนด้วยการให้แคลเซียม และสารน้ำ ส่วนลูกก็ให้กินนมแม่น้อยลงเนื่องจากมีลูก 7 ตัว สรุปว่ามีความสามารถรอดได้ครับ ก็ต้องยกความดีให้เพื่อนผมแหล่ะครับสามารถรักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะตอนนั้นผมเหมือนเคยอ่านเจอว่ามี แต่ไม่ได้รู้ละเอียดมาก ดังนั้นจึงถือโอกาสนี้สืบค้น และเขียนบทความนี้เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปได้ครับ
ไข้น้ำนม (Milk fever) คือภาวะที่แคลเซียมในกระแสเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งสามารถเป็นแบบแสดงอาการ (Clinical) หรือไม่แสดงอาการก็ได้ (Sub-clinical) อาการที่พบคือ ชักกระตุก (Tetany) นอนไม่ลุก (Lateral recumbancy) หูตก (Ear flapping) ขาหลังกระตุก (Jerking of hind limb) กล้ามเนื้อสั่น (Muscle tremor) และเสียชีวิต
พอพูดเรื่องนี้ก็จะคิดถึงโคนม เนื่องจากเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก และเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการ สาเหตุที่ทำให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำจนแสดงอาการมีสองทางคือ
1.ทางตรง กระต่ายเสียแคลเซียมออกนอกร่างกายมากเกินไปซึ่งส่วนมากจะพบในแม่ให้นม ท้องแรก มีลูกเยอะ เนื่องจากองค์ประกอบของนมกระต่ายประกอบไปด้วยแคลเซียมปริมาณสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นมาก รวมทั้งกระต่ายไม่ได้รับแคลเซียมเพียงพอต่อการดำรงชีวิตโดยเฉพาะช่วงที่ต้องการมากกว่าปกติดังเช่นช่วงให้นมลูก หรือก่อนคลอด เป็นต้น
2. ทางอ้อม เป็นมาจากกระต่ายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้เนื่องจากขาดวิตามินดี แต่อย่างไรก็ตามแคลเซียมสามารถดูดซึมโดยไม่ต้องใช้วิตามินดีก็ได้ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป สมดุลแคลเซียม ฟอสฟอรัสที่เสียไป ฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมผิดปกติ อาหารที่มีแร่ธาตุหรือสารที่ยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม ขาดแมกนีเซียมจากอาหารที่มีแมกนีเซียมต่ำ โรคไตที่ไม่สามารถควบคุมการขับแคลเซียมได้ เป็นต้น  
การตรวจยืนยัน ก่อนการตรวจยืนยันให้รักษาชีวิตกระต่ายก่อน เนื่องจากกระต่ายจะมาด้วยอาการที่อ่อนแอ ควรให้สารน้ำตามที่กระต่ายสูญเสียไป จากนั้นตรวจหาแคลเซียมในเลือดจากซีรั่ม โดยค่าปกติอยู่ในช่วง 12.8-14.8 mg/dl (3.2-3.7 mmol/l) แต่ในกระต่ายให้นมสามารถลดลงมาอยู่ในช่วง 10-11 mg/dl ส่วนในกระต่ายที่แสดงอาการจะพบว่ามีระดับแคลเซียมอยู่ในช่วง 5.4-6.2 mg/dl
สามารถรักษาโดยให้แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) เข้าเส้นเลือดหรือช่องท้องช้าๆ ในขนาด 0.6 mg Ca/kg ภายในสองชั่วโมงกระต่ายจะกลับมามีอาการปกติ จากนั้นต้องดูระดับแคลเซียมในเลือดทุก 6 ชั่วโมงเพื่อประเมินอาการและป้องกันไม่ให้ระดับแคลเซียมในเลือดกลับไปต่ำอีก สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ แยกลูกกระต่ายออกจากแม่เพื่อให้กินนมน้อยลง และให้นมเสริม โดยวิธีการสามารถดูได้ในบทความ “แม่กระต่ายไม่เลี้ยงลูก” สามารถเสริมอาหารแคลเซียมสูง

การป้องกันคือการให้อาหารที่มีสัดส่วนของแคลเซียมที่ถูกต้องในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ผมจะกล่าวในบทความ อาหารกับไข้น้ำนม : Food vs milk fever prevention”

ในบทความตอนต่อไปผมจะกล่าวถึงหลักการต่างๆที่มาสนับสนุนความคิดที่ผมได้เขียนไปในข้างต้นครับ
 __________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด



วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

Talk:การจัดการฟาร์ม4





Talk: การจัดการฟาร์ม 4 (ตัวอย่าง ตอนที่1)


ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงการนำข้อมูลที่เก็บในฟาร์มมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง แม่นยำ ข้อมูลที่ครบถ้วนย่อมเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก และความถูกต้องของข้อมูลก็มีความสำคัญตามมา เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลในองค์รวมย่อมเกิดมาจากข้อมูลแต่ละอันมารวมกันดังนั้นข้อมูลทุกข้อมูลที่บันทึกลงไปย่อมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นตัวอย่างเป็นข้อมูลประจำปี 2551 ที่เก็บมาจากฟาร์มแห่งหนึ่งในประเทศไทย 

ตารางที่ 1 แสดงค่าดัชนีหลักของฟาร์มแห่งหนึ่ง               
ชื่อดัชนี
ค่าดัชนีของฟาร์ม
ค่าดัชนีมาตรฐาน
จำนวนลูก/แม่/ปี


8.78
35

ลูกหย่านม/คอก

5.49±2.5
7


จำนวนลูกคลอด ณ วันคลอด
6.4±2.14
8


จำนวนลูกตายก่อนหย่า
14.18%
<5%

จำนวนคอก/แม่/ปี

1.6
5


ขนาดฝูงแม่
229
แล้วแต่ขนาดฟาร์ม


อัตราผสมติด
57.14%
90%

                จากตัวเลขดัชนีที่ออกมาในตารางที่ 1 เมื่อเทียบเลขที่ได้กับความรู้สึก หรือเทียบกับดัชนีมาตรฐานผมทราบว่าทุกคนต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าฟาร์มนี้ย่อมมีปัญหาอยู่แน่นอน ขนาดแม่มีร่วม 200 ตัวแต่ผลผลิตค่อนข้างต่ำมาก แต่อย่างไรก็ตามคณะผู้วิจัยได้ถามถึงค่าดัชนีต่างๆตามความรู้สึกของเจ้าของฟาร์ม ซึ่งได้ผลเปรียบเทียบระหว่างข้อเท็จจริงกับความรู้สึกได้ดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบดัชนีหลักจากการสัมภาษณ์ และการวิเคราะห์
ชื่อดัชนี
ค่าดัชนีจากสัมภาษณ์
ค่าดัชนีจากการวิเคราะห์
จำนวนลูก/แม่/ปี


ประมาณ 24-35
8.78

ลูกหย่านม/คอก

ประมาณ 6-7
5.49±2.5


จำนวนลูกคลอด ณ วันคลอด
ประมาณ 8-10
6.4±2.14


จำนวนลูกตายก่อนหย่า
ประมาณ 10%
14.18%

จำนวนคอก/แม่/ปี

ประมาณ 4-5
1.6


ขนาดฝูงแม่
ประมาณ 200
229


อัตราผสมติด
ประมาณ 60%
57.14%

                จากข้อมูลข้างต้นทำให้ทราบว่าความรู้สึก กับความจริงนั้นมีความแตกต่างกันมากถ้าเราไม่มีการเก็บข้อมูลที่ดี และการวิเคราะห์ที่ถูกต้องย่อมไม่ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เลย การวิเคราะห์ที่แก้ปัญหาผมจะดูเป็นขั้นลำดับ เพื่อหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริง เริ่มต้นด้วย ลูก/แม่/ปี ของฟาร์มมีแค่ 8 ทั้งที่ของมาตฐานอยู่ที่ 35 ซึ่งต่างกันอยู่เกือบ 5 เท่า ดัชนีนี้เกิดขึ้นจากดัชนีสองตัวคือ ลูกหย่านม/คอก และจำนวนคอก/แม่/ปี ซึ่งทั้งสองค่าก็มีปัญหาเหมือนกัน แสดงว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นทั้งสองทาง เรามาดูทางแรกกันก่อนคือทาง ลูกหย่านม/คอก ซึ่งเกิดมาจาก จำนวนลูกคลอด ณ วันคลอด และจำนวนลูกตายก่อนหย่า การเพิ่มจำนวนลูกคลอด ณ วันคลอดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และแก้ไขได้ยากรวมทั้งเลขในฟาร์มนี้ก็ไม่ถือว่าต่ำมาก แต่ร้อยละการตายของลูกก่อนหย่านั้นมาถึง 14 % ถ้าลดค่านี้ลงหรือประมาณ 2% ได้จะทำให้เราเหลือลูกกระต่ายต่อคอกประมาณ 6 ตัวซึ่งเข้าใกล้ค่ามาตรฐานมากขึ้น จากตรงนี้ผมก็ต้องเข้าไปสำรวจฟาร์มว่าการจัดการการคลอด และลูกก่อนหย่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อหาปัญหา และนำมาแก้ไขต่อไป
                ในตอนหน้าเราจะมาวิเคราะห์กันต่อครับ
__________________________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

Talk:การจัดการฟาร์ม3




Talk: การจัดการฟาร์ม 3 (ประโยชน์)


วันนี้ผมจะกล่าวถึงประโยชน์นะครับ การนำข้อมูลที่เก็บแล้วนำมาใส่ในฐานข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ และนำมาใช้ประโยชน์ แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ การจัดการ และการพัฒนาศักยภาพฟาร์ม โดยเรามักจะใช้ประโยชน์ในการจัดการ เป็นส่วนใหญ่ ดังเช่น หาวันตรวจท้อง หาวันคลอด จำนวนกระต่ายที่ออกมา เป็นต้น แต่ข้อมูลในการพัฒนาศักยภาพฟาร์มเรานำมาใช้น้อยมาก ที่จากการสำรวจจะเห็นว่านำมาใช้ในการปลดพ่อพันธุ์ คือ ดูประวัติพ่อพันธุ์ว่าตัวนี้ผสมไม่ค่อยติด หรือให้ลูกน้อยแล้วจึงปลดออกจากฝูง แต่ความจริงแล้วข้อมูลดังกล่าวสามารถทำประโยชน์ได้มากกว่านั้น โดยประโยชน์ต่างๆสามารถสรุปเป็นข้อได้ดังนี้
1. เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ เมื่อเราต้องตัดสินใจทำอะไรก็ตามถ้าเราไม่มีข้อมูล หรือหลักฐานมายืนยันการตัดสินใจดังกล่าวก็ไม่ต่างกับการเดา หรือการใช้ความรู้สึกนั่นเอง ในรายงานนี้ผมยกตัวอย่างการเลือกพ่อพันธุ์เอาไว้
2. ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าตอนนี้ฟาร์มของเราอยู่ตรงไหนของปีแล้ว จุดนี้เรานิยมใช้มาสุดคือ อัตราการทดแทนในฝูงเนื่องจากถ้าเราทดแทนน้อยเกินไป แม่เราจะไม่พอ แต่ถ้าทดแทนมากเกินไปกรงเราก็จะไม่พอ วิธีการคิดไม่ยากครับ เริ่มต้นจากเราต้องการมีแม่พันธุ์เท่าไหร่ หรือเรามีกรงสำหรับแม่เท่าไหร่ สมมติเรามี 200 กรงตอนนี้กระต่ายเต็มกรง และเราต้องให้ลำดับท้องเฉลี่ยของแม่อยู่ค่ากลางคือ มีแม่ทุกลำดับท้องในอัตราที่เท่ากัน ซึ่งวิธีการทำให้เป็นดังกล่าวจะกล่าว ในรายละเอียดของแต่ละฟาร์มที่สนใจ ในฟาร์มกระต่ายทั่วไปอัตราคัดทิ้งอยู่ที่ 50%ต่อปี ดังนั้น 1 เดือนต้องคัดทิ้งประมาณ 4.1% ดังนั้นถ้าเรามีแม่ 200 ตัวเราต้องเอาออกเดือนละประมาณ 9 ตัวและเอาแม่ใหม่มาอีก 9 ตัวนั่นเอง วิธีนี้จะทำให้การผลิตเราคงที่ และมีกรงเพียงพอไม่มีกรงว่างเลย โดยดัชนีที่ผมจับคือ ลำดับท้องในฝูงว่าคงที่หรือไม่
3. สามารถเปรียบเทียบศักยภาพการผลิตระหว่าง อดีต หรือ ฟาร์มอื่น อันนี้เป็นประโยชน์ว่าฟาร์มของเราพัฒนาขึ้นหรือไม่ หรือเรายังย้ำอยู่ที่จุดเดิม อันนี้เป็นฟาร์มหนึ่งก่อน หลังผมเข้าไปแนะนำเรื่องการดูแลลูกหลังคลอดเนื่องจากฟาร์มมีปัญหาลูกตายก่อนหย่าที่สูงเกินไป ลองไปดูดัชนีกันครับ
ชื่อดัชนี
ค่าดัชนีของฟาร์ม
ค่าดัชนีมาตรฐาน
จำนวนลูก/แม่/ปี


28.54
32.23

ลูกหย่านม/คอก

5.49±2.5
6.32±2.4


จำนวนลูกคลอด ณ วันคลอด
6.4±2.14
6.6±2.10


จำนวนลูกตายก่อนหย่า
14.18%
4.2%

จำนวนคอก/แม่/ปี

5.2
5.1


ขนาดฝูงแม่
110
110


อัตราผสมติด
81.12%
80.02%
ดูจากดัชนีใครเป็นเจ้าของก็ต้องดีใจ จำนวนคอก จำนวนแม่ อัตราผสมติด เท่าเดิมแต่สิ่งที่เปลี่ยนอย่างมากคือ จำนวนลูกตายก่อนหย่าที่ดีขึ้น เนื่องจากผมให้เจ้าของฟาร์มดูแลลูกใกล้ชิดมาก ดูว่าลูกทุกตัวได้นมหรือไม่ ถ้าไม่ได้ให้จับแม่ให้นมแก่ลูก ถามว่าเหนื่อยขึ้นแต่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นมาก็น่าประทับใจ เราได้ดูมาฟรีๆต่อแม่ถึง 4 ตัวทั้งฟาร์มก็ร่วม 400 ตัวเป็นต้น
4. สามารถวางแผนพัฒนาศักยภาพการผลิตได้ในอนาคต อันนี้ถามว่าสำหรับผมเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์ประจำฟาร์มต้องทำงานหนักมาก เนื่องจากการแก้ปัญหาต่างๆให้ลงอยู่ในระบบแล้วนั้น การพัฒนาศักยภาพต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก การเพิ่มผลผลิตทำได้สองทางคือ การเพิ่มฝูงแม่ แล้วคงศักยภาพฟาร์มให้เหมือนเดิม ซึ่งการทำแบบนี้ผมไม่แนะนำ และไม่ใช่งานของผมเป็นงานที่เจ้าของฟาร์มต้องตัดสินใจเองว่าต้องการลงทุนเพิ่มหรือไม่ เนื่องจากงานของผมจะทำเพียงทำให้กระต่ายออกลูกได้เยอะขึ้น ลูกตายน้อยลง ป่วยยากขึ้น เป็นต้น
5. ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หรือปัญหาที่แอบแฝงอยู่ในฟาร์ม โรคบางโรคเรียกว่าโรคแฝงจะทำลายฟาร์มโดยเราดูไม่ออกด้วยตาเปล่าเนื่องจากเวลาสัตว์ก่อนจะแสดงอาการต่างๆจะเป็นลำดับดังนี้ 1.กินอาหารลดลง 2.ประสิทธิภาพการผลิตลดลง 3.แสดงอาการป่วย ดังรูปที่ 1 แต่การรักษาส่วนมากเราจะรอจนถึงสัตว์แสดงอาการป่วยซึ่งบางทีก็สายเกินไป หรือทำให้รอบการผลิตหยุดชะงักลงไปได้ ซึ่งในฟาร์มไก่ หรือสุกร เมื่อสัตวแพทย์ประจำฟาร์มทราบว่ามีการกินลดลงผิดปกติเขาจะรักษาทันทีทำให้สัตว์หายป่วยก่อนที่จะป่วยด้วยซ้ำ
รูปที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ของการเกิดโรคเป็นลำดับ

สำหรับบทความตอนต่อไปเราจะยกตัวอย่างจากฟาร์มที่ไปเก็บข้อมูลมานะครับ
____________________________________________________________________________________________________________________________________________________________

ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด