หัวข้อ

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Talk:ไข้น้ำนม3


Talk: ไข้น้ำนมในกระต่าย 3 (หลักการ)  




ฟอสฟอรัส ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของกระดูก และการเผาผลาญพลังงาน ในกระต่ายเด็กจะสามารถดูดซึมฟอสฟอรัสได้ดีกว่าในกระต่ายโตเนื่องจากต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่า ฟอสฟอรัสที่ดูดซึมจากลำไส้เล็กส่วนต้น และส่วนกลาง
ฟอสฟอรัสในอาหารของกระต่ายจะอยู่ในรูปของ Phytate phosphorus ซึ่งเอนไซม์จากกระต่ายไม่สามารถย่อยฟอสฟอรัสออกมาใช้งานได้ แต่สามารถย่อยด้วย Phytase จากแบคธีเรียในซีกั่ม (Caecum) ได้ ซึ่งฟอสฟอรัสที่ย่อยแล้วจะออกมากับอุจจาระกลางคืนและจะถูกกระต่ายกินกลับเข้าไปเพื่อนำฟอสฟอรัสไปใช้ในร่างกาย นอกจากนี้ยังพบ Phytase ในข้าวสาลี ดังนั้นถ้าผสมข้าวสาลีในอาหาร กระต่ายก็สามารถนำฟอสฟอรัสได้ทันทีไม่ต้องรอการย่อยจากแบคธีเรีย
สัดส่วนของแคลเซียม และฟอสฟอรัสมีความสำคัญมากโดยสัดส่วนที่ดีที่สุดคือ แคลเซียม:ฟอสฟอรัส=2:1 การที่แคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลให้มีความผิดปกติต่อร่างกาย
แมกนีเซียมส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในกระดูกร้อยละ 70 ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยปฎิกิริยาต่างๆ (Cofactor) การขาดแมกนีเซียมส่งผลให้ การเจริญเติบโตที่ช้า ขนร่วง ขนไม่มันเงางาม และมีพฤติกรรมกินขนตัวเอง กระต่ายควรได้รับปริมาณแมกนีเซียมในช่วง 0.3-3 กรัมต่อกิโลกรัม โดยปกติมักให้ในขนาด 1.7 กรัมต่อกิโลกรัม แมกนีเซียมที่เกินความจำเป็นจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ
ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (PTH) จะสามารถทำงานได้ต้องประกอบไปด้วยแมกนีเซียมและความเป็นกรดด่างที่พอเหมาะ (ดังรูปที่ 2) รูปซ้ายสุดหรือหมายเลขหนึ่ง เมื่อระดับความเป็นกรดด่างพอเหมาะและมีแมกนีเซียมมากเพียงพอสามารถทำให้ PTH สามารถทำงานได้ ในรูปกลางหรือหมายเลขสอง มีความเป็นกรดด่างเปลี่ยนไปส่งผลให้ตัวรับ (Receptor) มีการเปลี่ยนรูปไปเนื่องจากตัวรับคือโปรตีนที่เปลี่ยนแปลงตามความเป็นกรดด่างจึงไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากการทำงานของฮอร์โมนใช้ทฤษฎี Lock and key (ทฤษฏีแม่กุญแจ กับลูกกุญแจ) คือต้องมีรูปร่างที่สามารถเข้ากันได้อย่างพอดีถึงจะทำให้มีกลไกทำงานต่อไปได้ เปรียบเสมือนแม่กุญแจ กับลูกกุญแจ รูปทางขวาหรือรูปที่3 มีปริมาณของแมกนีเซียมในเลือดน้อยกว่าปกติ เนื่องจาก Adenyl cyclase complex (ตัวสีฟ้าด้านล่าง) ต้องการแมกนีเซียมมาเป็นตัวช่วย (Coenzyme) ในการทำงานต่อไป เมื่อแมกนีเซียมไม่เพียงพอก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้นั่นเอง
ปกติแมกนีเซียมสามารถพบในพืชอาหารสัตว์ แต่ในบางกรณีที่พืชดังกล่าวปลูกในดินที่มีแมกนีเซียมต่ำ ส่งผลให้พืชในพื้นที่ดังกล่าวเก็บแมกนีเซียมไว้ในปริมาณน้อยกว่าปกติ แล้วส่งผลให้สัตว์ที่กินพืชดังกล่าวได้รับแมกนีเซียมในระดับที่ไม่เพียงพอ

รูปที่ 2 แสดงการทำงานของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (PTH) ในสภาวะแตกต่างกัน

ในบทความต่อไปจะกล่าวถึงงานวิจัยว่ากระต่ายระดับแคลเซียมในระยะท้อง ให้นมลูก และภาวะปกติ มีความแตกต่างอย่างไร

________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด




Talk:ไข้น้ำนม2



Talk: ไข้น้ำนมในกระต่าย 2 (หลักการ)  



ในส่วนนี้ผมจะพูดถึงหลักการนะครับ ก่อนอื่นเราควรรู้จักกับแคลเซียมและแร่ธาตุที่มีความเกี่ยวโยงกับแคลเซียม ซึ่งก็คือ ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม
แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่มากกว่าร้อยละ 98 สะสมอยู่ในกระดูกและฟันซึ่งในส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างค้ำจุน ซึ่งฟันกระต่ายยาวประมาณ 2 มิลลิเมตรต่อสัปดาห์จึงต้องการแคลเซียมเป็นอย่างมาก อีกร้อยละ 2 จะอยู่ในกระแสเลือดซึ่งทำหน้า ที่เกี่ยวกับ การทำงานของหัวใจ การหดตัวของกล้ามเนื้อ การแข็งตัวของเลือด รักษาสมดุลของอิเล็กโทรไลท์ การทำงานของเซลล์ประสาท การทำงานของฮอร์โมน ทำให้ผนังเซลล์แข็งแรง และเป็นส่วนประกอบในน้ำนม
กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีปริมาณแคลเซียมในน้ำนมและในเลือดสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่น (ตารางที่ 1) ซึ่งสาเหตุก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ โดยระดับแคลเซียมในน้ำนมจะสูงกว่าสัตว์อื่นประมาณ 2 เท่า ดังนั้นในกระต่ายให้นมลูกจึงเสียแคลเซียมจากร่างกายมาก ปริมาณอาหารที่ระดับแคลเซียมสูง จะส่งผลต่อระดับของแคลเซียมในกระแสเลือดโดยตรง

ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบระดับแร่ธาตุในน้ำนมของ โค แกะ สุกร และกระต่ายปกติ
แร่ธาตุ
โคนม
แกะ
สุกร
กระต่าย
โซเดียม
0.45
0.45
0.5
0.96
โพแทสเซียม
1.5
1.25
0.84
1.86
แคลเซียม
1.2
1.9
2.2
4.61
แมกนีเซียม
0.12
0.15
-
0.27
ฟอสฟอรัส
1.9
1.5
1.6
2.78
คลอไรด์
1.1
1.2
-
0.66
ดัดแปลงมาจาก Guegen et al., 1988; Partridge and Gill, 1993; El-Sayiad et al., 1994; Maertens et al., 2006

การดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เล็กสามารถผ่านทาง Acive vitamin D dependent transcellular transport ซึ่งต้องใช้พลังงานและวิตามินดีถึงจะทำงานได้ และอีกทางคือ Passive paracellular diffusion ที่ไม่ต้องใช้พลังงานหรือวิตามินดี โดยใช้ความแตกต่างของความเข้มข้นของแคลเซียมระหว่างในทางเดินอาหารกับในระบบเลือด ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นทางหลักในการดูดซึมแคลเซียมในกระต่าย การดูดซึมถูกขัดขวางจากอาหารที่มี Phytate (ดังเช่น ถั่ว ธัญพืช), Oxalate (ดังเช่น ผักขม อัลฟาฟ่า), Acetates เป็นส่วนประกอบเนื่องจากจะจับกับแคลเซียมทำให้ไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย พืชชนิดอื่นที่มีแคลเซียมสูงแต่มีออกซาเลตต่ำดังเช่น บล็อคโคลี่ เป็นต้น รวมทั้งยาเพนนิซิลลิน และคลอแรมฟีนิคอลก็สามารถจับกับแคลเซียมได้
กลไกการรักษาสมดุลของแคลเซียมในมีแคลเซียมอยู่ในกระแสเลือดในปริมาณปกติมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การรักษาสมดุลของแคลเซียมเป็นดังนี้ (รูปที่1) เมื่อร่างกายมีระดับแคลเซียมในเลือดลดลงจะมีการกระตุ้นให้ต่อมพาราไทรอยด์หลั่ง Parathyroid hormone (PTH) ออกมาจะกระตุ้นให้มีการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น และให้ไตดูดแคลเซียมกลับขับฟอสฟอรัสออกมากขึ้น โดยผลทั้งสองอย่างทำให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นวิตามินดียังช่วยให้มีการดูดซึ่งแคลเซียมมากขึ้นโดยวิตามินดีมากจาก 7-dehydrocholesterol ที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังเมื่อโดนแสงแดดก็จะกลายเป็นวิตามินดีที่ยังใช้งานไม่ได้ และวิตามินดีที่ใช้งานไม่ได้ก็สามารถมาจากอาหารได้ จากนั้นจะถูกขนส่งสู่ตับโดยจะเปลี่ยนเป็น 25(OH)D ด้วยเอนไซม์ 25-hydroxylase จากนั้นไปยังไตเพื่อเปลี่ยนเป็น 1,25(OH)2D ด้วยเอนไซม์ 1-hydrosylase ซึ่งจะทำงานก็ต่อเมื่อถูกกระตุ้นด้วย PTH สาร 1,25(OH)2D เป็นรูปทำงานของวิตามินดีซึ่งจะไปที่ลำไส้เล็กทำให้สามารถดูดซึมแคลเซียมได้มากขึ้น จากนั้นร่างกายก็จะเข้าสู่ภาวะสมดุล

รูปที่ 1 แสดงการรักษาสมดุลแคลเซียมเมื่อมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง

ในกรณีที่แคลเซียมในเลือดสูงขึ้นจะกระตุ้นให้ C-cell ของต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนแคลซิโนินซึ่งส่งผลให้มีการนำแคลเซียมไปเก็บในกระดูกมากขึ้น เพิ่มการขับแคลเซียมออกทางไต ลดการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร ซึ่งส่งผลให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดลดลงจนกลับมาสู่สมดุล ทางหลักในการขับแคลเซียมออกจากร่างกายคือ ปัสสาวะ ในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเรามักพบว่าปัสสาวะกระต่ายมีสีขาวขุ่น เป็นตะกอน และเมื่อกินอาหารที่มีระดับแคลเซียมสูงดังเช่น อัลฟาฟ่า แครอท เป็นต้น ปัสสาวะกระต่ายก็จะมีสีขาวขุ่นมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถ้าระดับแคลเซียมมากเกินไปแคลเซียมจะถูกขับมาทางอุจจาระด้วย ระดับแคลเซียมในเลือดที่มากกว่า 40g/kgBW เป็นระยะเวลานานส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว (Urolithiasis) หรือ การสะสมแคลเซียมในเนื้อเยื่อ (Calcification of soft tissue) ดังนั้นระดับแคลเซียมที่เหมาะสมในกระต่ายเลี้ยงคือ ประมาณร้อยละ 0.6-1 ต่ออาหารทั้งหมด

รูปที่ 1 แสดงการรักษาสมดุลแคลเซียมเมื่อมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น

ดังนั้นฮอร์โมนพาราไทรอยด์จึงมีความสำคัญในการทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงมากเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ในบทความต่อไปผมจะพูดถึงฟอสฟอรัส และแมกนีเซียมครับ

________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด