หัวข้อ

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Talk:กระต่ายคอเอียง4



Talk: กระต่ายคอเอียง ตอนที่ 4 (แนวทางในอนาคต ตอนจบ)




ในที่สุดก็มาถึงตอนจบซักที เข้าเรื่องเลยแล้วกันครับ ผมจะให้คำแนะนำในแต่ละกรณีกันไปนะครับ เผื่อจะเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
                1. กรณีเจ้าของฟาร์มปลอดโรค สิ่งแรกที่ต้องรู้เลยว่าฟาร์มปลอดโรคจริงหรือไม่ ก่อนอื่นเลยเพื่อประหยัดต้นทุนเราจะตรวจหาแอนติบอดี้ในฟาร์มก่อน โดยวิธีการสุ่ม หรือทั้งหมดก็แล้วแต่ฟาร์ม ถ้าให้ผลลบนับว่าโชคดีสุดๆ ที่เหลือก็แค่การป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ามา แต่ถ้าให้ผลบวกก็ดูกันเลยครับว่าเชื้ออยู่ที่ตัวไหนด้วยการตรวจหาตัวเชื้อ ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในข้อ 2 สำหรับฟาร์มที่ไม่มีเชื้อนั้น ต้องป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ามาครับ สามารถทำโดยกักโรคควรนานเกิน 2 เดือน แล้วตรวจหาแอนติบอดี้ว่ากระต่ายที่รับเข้ามามีเชื้อหรือไม่ รวมทั้งสามาถตรวจหาตัวเชื้อร่วมด้วย
                2. กรณีเจ้าของฟาร์มมีโรค แนะนำให้ยาทั้งฟาร์มครับ เนื่องจากเชื้อสามารถติดต่อไปได้ทั้งฟาร์ม แต่อย่างไรก็ตามอยู่ที่ว่าผลบวกที่เกิดขึ้นนั้นได้จากการตรวจหา ตัวเชื้อ หรือแอนติบอดี้ ถ้าเป็นการตรวจหาตัวเชื้อก็บอกได้แน่นอนครับว่ามีเชื้อแน่ๆ แต่ถ้าผลตรวจพบแอนติบอดี้ก็ไม่แน่ว่ากระต่ายตัวนั้นอาจมีเชื้ออยู่ หรือเป็นกระต่ายที่สามารถต่อสู้กับเชื้อได้ ทำให้มีสองหลักการที่ใช้ในต่างประเทศดังนี้
                                2.1 จากรายงานจากประเทศไต้หวัน อันนี้จะออกแนวทำลายแต่โรคหยุดไว สามารถสร้างฟาร์มปลอด โรคได้อย่างรวดเร็ว หลักการคือตรวจเลือดกระต่ายทุกตัวด้วยการตรวจหาแอนติบอดี้ ตัวไหนมีบวกก็คัดทิ้งทันที จากรายงานใช้เวลาประมาณ 45 วันก็สามารถเป็นฟาร์มปลอดโรค จากนั้นเราก็กักโรคโดยตรวจหาแอนติบอดี้อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ข้อดีคือโรคหยุดไว ข้อเสีย กระต่ายโดนปลดทิ้งเยอะ บางที่กระต่ายที่เราปลดไปอาจจะเป็นกระต่ายที่สามารถต่อสู้กับเชื้อก็ได้ และถ้ามีเชื้อเล็ดลอดเข้ามาในฟาร์มอีก ความเสียหายที่เกิดค่อนข้างรุนแรงมาก
                                2.2 อีกฝั่งประเทศไทยก็ออกทฤษฎีมาว่า เย้ย!!! ที่ไทยออกกับเค้าด้วยเหรอ ขอโทษทีครับไม่ใช่ของไทยหรอก จากที่ผมทำงานวิจัยเรื่องนี้ก็พยายามหาทางแก้ไข อันนี้เป็นทฤษฎีที่ผมคิดขึ้นมาเองครับ ถ้าใครมีความคิดว่าตรงไหนผมคิดไม่ถูกต้อง บอกกันได้นะครับ จะได้เป็นการแบ่งประสบการณ์กัน เพราะผมก็ไม่ได้บอกว่าวิธีของผมเป็นวิธีที่ถูกต้อง เนื่องจากผมก็ยังไม่เคยทำการทดลองพิสูจน์
                                หลักการที่ว่าผมคิดจากถ้าผมสั่งให้ทำลายการต่ายมากมายขนาดนั้นเจ้าของฟาร์มต้องไม่พอใจ และเสียเงินเป็นอย่างมาก ซึ่งจากที่ผมเก็บตัวอย่างผมว่าหลายที่ในประเทศของเราก็มีเชื้ออยู่แล้ว พูดง่ายๆก็คือหนีไปไหนไม่รอด ดังนั้นผมจึงคิดว่า เราต้องอยู่กับมันให้ได้ เราจะอยู่กับมันได้ไง หลักการก็คือ เชื้อนี้คือเชื้อฉวยโอกาส หมายความว่า ถ้าร่างกายสัตว์แข็งแรงร่างกายเราก็สามารถทำลายเชื้อนี้ได้ครับ แต่การจัดการเรื่องสุขภาพต้องดีมาก เพราะปัญหาของประเทศเราคือ ฤดูร้อน และปลายฝนต้นหนาว ตอนนี้ภูมิคุ้มกันแย่แน่นอนจัดการยากมาก และเป็นช่วงที่เชื้อสามารถแสดงฤทธิ์ออกมากได้ ดังนั้นผมเสนอวิธีการเป็นข้อๆดังนี้ครับ
                                                2.2.1 คัดทิ้งกระต่ายที่แสดงอาการ เนื่องจากกระต่ายกลุ่มนี้ถือว่าไม่สามารถต่อสู้กับโรคได้ และยังจะแพร่เชื้อต่อไปอีก ถึงจะรักษาให้หายการให้ผลผลิตก็ไม่ดีเท่าเดิม
                                                2.2.2 ให้ยาแก่กระต่ายก่อนภูมิคุ้มกันจะตก ถ้าเราคิดนะครับ ถ้าผมมีกระต่ายอยู่ 100 ตัว สมมติติดเชื้อเรียบร้อยไปแล้ว 40 ตัว แสดงอาการ 5 ตัว ดังนั้นผมคัดทิ้งออกไปเหลือ 35 ตัวที่มีเชื้อ แต่ปัญหาคือ ในความจริงแล้วตาเราจะเห็นแค่ กระต่ายป่วย 5 ตัว ปกติ 95 ตัว ซึ่งตัวปัญหาที่ไม่แสดงอาการ 35 ตัวเนี่ยแหล่ะครับ ที่เราต้องจัดการ อย่างที่กล่าวไปเชื้อนี้เป็นเชื้อฉวยโอกาส ถ้าเราเลี้ยงดี สภาพอากาศดี เชื้อที่อยู่ในกระต่ายที่มีเชื้อจะออกมาน้อยมาก แต่เมื่อในช่วงอากาศไม่ดีอย่างที่ผมได้กล่าวไปกระต่ายที่มีเชื้ออยู่จัดหนัก พ่นเชื้อออกมาทำให้กระต่ายปกติติดเชื้อได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงไป ดังนั้นแก้ไขก็คือการให้ยากระต่ายทั้งฟาร์ม ยาจะทำให้กระต่ายที่พ่นเชื้อไม่พ่นเชื้อ และกระต่ายปกติก็ได้รับการป้องกัน
                                                ตอนนี้บางคนอาจบอกว่าแล้วเชื้อที่ออกมาเล็กน้อยตอนที่สภาพอากาศดี และเราไม่ได้ให้ยาเราจะทำยังไง จุดที่สำคัญมากที่จะสร้างกระต่ายเทพ คือกระต่ายที่ทนทานต่อเชื้อตัวนี้ มันจะเกิดขึ้นโดยที่กระต่ายปกติได้รับเชื้อในปริมาณน้อยในขณะที่ร่างกายแข็งแกร่ง ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะจัดการเชื้อได้ ซึ่งได้มีการยืนยันจากงานทดลองแล้ว ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ได้มีแค่คนทำลายเท่านั้น ยังมีกลุ่มเซลล์ที่จะสามารถจดจำเชื้อ (Memory cell) เมื่อเจอเชื้ออีกครั้งก็สามารถกระตุ้นภูมิและต่อสู้กับเชื้อได้รวดเร็วกว่าครั้งแรก ซึ่งในเชื้ออื่นๆพบว่าร่างกายมีการตอบสนองดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นในทางเดียวกันกับเชื้อตัวนี้ แต่ก็ต้องรอการทดลองยืนยันต่อไป
                                                เพราะฉะนั้นถ้าทฤษฎีที่ได้กล่าวไปได้รับการยืนยันจากการทดลอง เราจะสามารถสร้างกระต่ายเทพ และอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข แต่ก็ต้องรอการทดลองยืนยัน แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ก็ไม่ต้องใช้วิธีการตรวจที่ยุ่งยาก
                3. กรณีสัตว์เลี้ยง จุดยากของการทำฟาร์มพ่อแม่พันธุ์แท้ กับสัตว์เลี้ยงคือการไม่มีคำว่า “คัดทิ้ง” แต่ไม่ต้องกลัวครับ ทุกอย่างมีทางออก อยากแรกรักษาเลยครับ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น แล้วดูอาการกันไป เพราะโรคนี้ถ้าได้รับการรักษาไม่ถึงตายถ้าเรารักษาทันท่วงที สำหรับการตรวจผมแนะนำการตรวจหาตัวเชื้อ แต่ต้องรอวิธีตรวจที่กำลังพัฒนาอยู่ เนื่องจากเราต้องรู้ว่าเชื้อจะออกมากับปัสสาวะช่วงไหน จะได้เก็บตัวอย่างได้ และต้องมีวิธีตรวจที่มีความแม่นยำมากเพียงพอ สำหรับคนที่จะซื้อก็ต้องเตรียมใจด้วยครับ อย่างที่บอกวิธีการตรวจในกระต่ายมีชีวิตยังไม่มีวิธีที่ดีพอ อย่างไรก็ตามสำหรับสัตว์เลี้ยงผมยังใช้หลักเดิมเสมอว่า ไม่มีสัตว์ตัวไหนแทนกันได้ ถ้าผมได้ข้อมูลการรักษามากกว่านี้ผมจะรีบนำมาลงให้ทันทีครับ
                หวังว่าคงได้รับความรู้มากขึ้นนะครับ เนื่องจากเชื้อตัวนี้ก็ยังเป็นที่สนใจต่อนักวิจัยอยู่ในขณะนี้ ถ้ามีองค์ความรู้มากกว่านี้จะรีบเอามาลงให้ ส่วนตัวผมก็คงต้องหาทุนวิจัยทำต่อไปจนกว่าฟาร์มในไทยจะต่อสู้กับเชื้อตัวนี้ได้ สุดท้ายผมของฝากว่า ถ้ามีคนในบ้านมีภูมิคุ้มกันบกพร่องดังเช่น เอดส์ ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ยามะเร็ง เป็นต้น ให้รีบนำกระต่ายที่สงสัยออกจากบ้าน และติดต่อแพทย์ที่รักษาอยู่ เนื่องจากเชื้อสามารถติดคนกลุ่มดังกล่าวได้ ซึ่งคนปกติก็มีรายงานว่าติดเชื้อนี้ได้ ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องหาหลักฐานยืนยันกันต่อไปครับ
____________________________________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Talk:ไข้น้ำนม1


Talk: 
ไข้น้ำนมในกระต่าย 1 (การช่วยเหลือ)  



              พอดีวันอังคารที่ผ่านมาเพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นหมออยู่โทรมาถามเรื่อง ไข้น้ำนมในกระต่าย ผมก็ให้รักษาประคับประ คองแม่ไปก่อนด้วยการให้แคลเซียม และสารน้ำ ส่วนลูกก็ให้กินนมแม่น้อยลงเนื่องจากมีลูก 7 ตัว สรุปว่ามีความสามารถรอดได้ครับ ก็ต้องยกความดีให้เพื่อนผมแหล่ะครับสามารถรักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะตอนนั้นผมเหมือนเคยอ่านเจอว่ามี แต่ไม่ได้รู้ละเอียดมาก ดังนั้นจึงถือโอกาสนี้สืบค้น และเขียนบทความนี้เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปได้ครับ
ไข้น้ำนม (Milk fever) คือภาวะที่แคลเซียมในกระแสเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งสามารถเป็นแบบแสดงอาการ (Clinical) หรือไม่แสดงอาการก็ได้ (Sub-clinical) อาการที่พบคือ ชักกระตุก (Tetany) นอนไม่ลุก (Lateral recumbancy) หูตก (Ear flapping) ขาหลังกระตุก (Jerking of hind limb) กล้ามเนื้อสั่น (Muscle tremor) และเสียชีวิต
พอพูดเรื่องนี้ก็จะคิดถึงโคนม เนื่องจากเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก และเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการ สาเหตุที่ทำให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำจนแสดงอาการมีสองทางคือ
1.ทางตรง กระต่ายเสียแคลเซียมออกนอกร่างกายมากเกินไปซึ่งส่วนมากจะพบในแม่ให้นม ท้องแรก มีลูกเยอะ เนื่องจากองค์ประกอบของนมกระต่ายประกอบไปด้วยแคลเซียมปริมาณสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นมาก รวมทั้งกระต่ายไม่ได้รับแคลเซียมเพียงพอต่อการดำรงชีวิตโดยเฉพาะช่วงที่ต้องการมากกว่าปกติดังเช่นช่วงให้นมลูก หรือก่อนคลอด เป็นต้น
2. ทางอ้อม เป็นมาจากกระต่ายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้เนื่องจากขาดวิตามินดี แต่อย่างไรก็ตามแคลเซียมสามารถดูดซึมโดยไม่ต้องใช้วิตามินดีก็ได้ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป สมดุลแคลเซียม ฟอสฟอรัสที่เสียไป ฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมผิดปกติ อาหารที่มีแร่ธาตุหรือสารที่ยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม ขาดแมกนีเซียมจากอาหารที่มีแมกนีเซียมต่ำ โรคไตที่ไม่สามารถควบคุมการขับแคลเซียมได้ เป็นต้น  
การตรวจยืนยัน ก่อนการตรวจยืนยันให้รักษาชีวิตกระต่ายก่อน เนื่องจากกระต่ายจะมาด้วยอาการที่อ่อนแอ ควรให้สารน้ำตามที่กระต่ายสูญเสียไป จากนั้นตรวจหาแคลเซียมในเลือดจากซีรั่ม โดยค่าปกติอยู่ในช่วง 12.8-14.8 mg/dl (3.2-3.7 mmol/l) แต่ในกระต่ายให้นมสามารถลดลงมาอยู่ในช่วง 10-11 mg/dl ส่วนในกระต่ายที่แสดงอาการจะพบว่ามีระดับแคลเซียมอยู่ในช่วง 5.4-6.2 mg/dl
สามารถรักษาโดยให้แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) เข้าเส้นเลือดหรือช่องท้องช้าๆ ในขนาด 0.6 mg Ca/kg ภายในสองชั่วโมงกระต่ายจะกลับมามีอาการปกติ จากนั้นต้องดูระดับแคลเซียมในเลือดทุก 6 ชั่วโมงเพื่อประเมินอาการและป้องกันไม่ให้ระดับแคลเซียมในเลือดกลับไปต่ำอีก สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ แยกลูกกระต่ายออกจากแม่เพื่อให้กินนมน้อยลง และให้นมเสริม โดยวิธีการสามารถดูได้ในบทความ “แม่กระต่ายไม่เลี้ยงลูก” สามารถเสริมอาหารแคลเซียมสูง

การป้องกันคือการให้อาหารที่มีสัดส่วนของแคลเซียมที่ถูกต้องในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ผมจะกล่าวในบทความ อาหารกับไข้น้ำนม : Food vs milk fever prevention”

ในบทความตอนต่อไปผมจะกล่าวถึงหลักการต่างๆที่มาสนับสนุนความคิดที่ผมได้เขียนไปในข้างต้นครับ
 __________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด