หัวข้อ

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Talk:ไข้น้ำนม4




Talk: ไข้น้ำนมในกระต่าย 4 (หลักการ ตอนจบ)








            จริงๆแล้วบทความทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากรายงานการวิจัยอันนี้ครับ หลังจากที่เพื่อผมถามพอเจองานวิจัยอันนี้ผมก็สบายใจเลยครับ งานวิจัยคือการทดลองในจำนวนสัตว์ที่มีการคิดวิเคราะห์อย่างดีแล้วว่าเป็นตัวแทนของประชากรในชีวิตจริงได้ แต่อย่างไรก็ตามนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง แล้วประสบผลสำเร็จย่อมดีกว่าผลสำเร็จทางการทดลอง เนื่องจากการทดลองก็ทำเพื่อให้สามารถใช้ได้ในชีวิตจริงนั่นเอง
                จากการทดลองของ Barlet (1980) ได้ทดลองเปรียบเทียบกระต่ายปริมาณของ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม ในเลือดกระต่าย ระหว่างกระต่ายปกติกับกระต่ายท้องจนให้นม (รูปที่ 1) แกนนอนคือระยะเวลาของกระต่าย เลข 20 จากด้าน ซ้ายคือ ก่อนคลอด 20 วัน เลข 0 คือวันที่คลอด ส่วนเลข 20 ด้านขวาคือ วันที่ 20 หลังคลอดซึ่งอยู่ในช่วงให้นมลูก แกนตั้งคือความเข้มข้นของสารในเลือด โดยจากด้านบนสู่ด้านล่างคือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม ตามลำดับ โดยสีเขียวเป็นกลุ่มควบคุมคือ กระต่ายไม่ได้ท้องสุขภาพดี ส่วนสีแดงคือกลุ่มกระต่ายที่ท้อง คลอดลูก และให้นม ถ้าพบดอกจันหมายความว่ามีความแตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง กลุ่มควบคุม และกลุ่มกระต่ายที่ท้อง ดอกจันสองดอก (P<0.01) แสดงว่ามีความแตกต่างมากกว่าดอกจัน 1 ดอก (P<0.05) ถ้าไม่พบดอกจันแสดงว่าไม่แตกต่างกัน โดยวิธีการดูว่าแตกต่างกันหรือไม่ใช้วิธีทดสอบทางสถิติ เมื่อนักวิจัยทดลองสิ่งต่างๆเช่น กินอาหาร A กับ อาหาร B อันไหนดีกว่า สมมติสุนัข 10 ตัวกิน A มากกว่า B อยู่ 6 ตัว ถ้าเอาไปถามคนซัก 10 คน ก็บอกคงบอกไม่เหมือนกันว่าอันไหนดีกว่า อาจจะตัวอย่างน้อยไปหรืออะไรก็ตาม ดังนั้นจึงสร้างสถิติขึ้นมาทดสอบเหมือนวิธีตรวจสอบมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับ ทำให้สามารถบอกได้ว่าผลการทดลองที่ได้นั้นเหมือนหรือต่างกันนั่นเอง


รูปที่ 1 แสดงระดับแคลเซียม (บนสุด) ฟอสฟอรัส (กลาง) และ แมกนีเซียม (ล่างสุด)  ที่แตกต่างระหว่างกระต่ายปกติ (สีเขียว) และการต่ายอุ้มท้องและให้นม (สีแดง) ในช่วงการผลิตที่แตกต่างกัน

                จากผลการทดลองเห็นชัดว่า ระดับของแคลเซียม และฟอสฟอรัสในเลือดในช่วง ก่อนคลอด คลอด หลังคลอด ไปถึงช่วงอย่านม กระต่ายได้สูญเสียระดับแคลเซียมลงไปมากเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แล้วกว่าจะกลับมาก็ใช้เวลานานเกือบ 70 วันหลังคลอด พบว่าถ้าระดับแคลเซียมอยู่ในช่วง 10-11 mg/dl กระต่ายจะไม่แสดงอาการและสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ แต่ถ้ากระต่ายมีปริมาณเลือดต่ำเกินไปก็ทำให้มีอาการและเสียชีวิตได้ ดังนั้นการรักษาได้มาจากการทดลองในรูปที่ 2 โดยเป็นการวัดระดับแคลเซียมหลังการฉีดแคลเซียม 0.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเข้าสู่ช่องท้องกระต่าย โดยกระต่ายที่มีอาการทางคลินิกและมีระดับแคลเซียมต่ำมาก จากการช่วยเหลือดังกล่าวสามารถทำให้ระดับแคลเซียมอยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้ที่ประมาณ 11 mg/dl ก็เป็นที่มาของคำแนะนำข้างต้นนะครับ 
รูปที่่ 2 ระดับแคลเซียม (สีเขียว) และฟอสฟอรัส (สีน้ำเงิน) หลังจากการฉีดแคลเซียม 0.6 mg/kg เข้าช่องท้องกระต่าย

น.สพ.อรรถวิทย์ โกวิทวที
(นิสิตปริญญาเอกสาขาการเพาะพันธุ์กระต่าย มหาวิทยาลัยตูริน ประเทศอิตาลี)

____________________________________________________________________________________________________________________________________________________________

ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด 


Talk:การจัดการฟาร์ม5



Talk: การจัดการฟาร์ม 5 ตอนจบ (ตัวอย่าง ตอนที่2)



                

                เราจะวิเคราะห์ต่อกันครับ จากตอนก่อนเรามาดูอีกฝั่งนึงคือ จำนวนคอก/แม่/ปี ซึ่งควรได้ประมาณ 4-5 คอกต่อปี แต่กลับได้เพียง 1.6 สิ่งที่ผมจะไปตรวจในขนาดฝูงแม่ คือ ลำดับท้องของแม่ และการทดแทน เพราะบางทีช่วงปีนี้อาจมีการทดแทนแม่มากกว่าปกติทำให้แม่ท้องแรกมีปริมาณมากก็เป็นได้ แต่สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขเลยคืออัตราผสมติดที่คล้ายกับเหมือนว่า การผสมติด หรือไม่ติดนั้นสลับกับไปมาซึ่งเป็นค่าที่ไม่ดีอย่างมาก การผสมไม่ติดนั้นเกีดมาจากสามทางคือ พ่อ แม่ และวิธีการ จากข้อมูลดังกล่าวผมจะไปสืบดูว่าผสมอย่างไรถูกต้องหรือไม่ ตามสายพ่อแต่ละตัวไปว่าประสิทธิภาพมีพ่อตัวไหนถ่วงอยู่หรือเปล่า และสุดท้ายค่อยดูแม่ว่า แม่กลุ่มที่มีปัญหาเป็นแม่กลุ่มไหนกันแน่
                โดยการวิเคราะห์ผมมักจะนำช่วงเวลามาวิเคราะห์ด้วย เพื่อทราบว่ามีช่วงเวลาไหนที่ส่งผลกระทบต่อการวิเคราะห์แบบรายปีหรือไม่ซึ่งผมลองดูในส่วนของจำนวนครั้งที่มีการผสมติดและคลอดลูก ต่อเดือนนำมาเป็นกราฟได้ดังกราฟที่ 1

กราฟที่ 1 แสดงจำนวนการคอกรวมในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

                จากการดูกราฟทุกคนคงเห็นว่ามันต้องมีปัญหาอะไรอย่างแน่นอนในช่วงกลางปี ซึ่งคำตอบนั้นก็เป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ประจำฟาร์ม และเจ้าของฟาร์มในการหาปัญหา และช่วยกันแก้ไขต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในปีต่อๆไป
               
                สำหรับการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของฟาร์มต้องการตัดสินใจอะไร อย่างในฟาร์มนี้ผมขอยกตัวอย่างการคัดทิ้งแม่ผสมติดยากซ้ำซาก เนื่องจากฟาร์มนี้มีแม่เยอะแต่ไม่มีประสิทธิภาพ เลขอยากดูความสามารถแม่แต่ละตัวว่าแม่ตัวไหนให้ท้องปีละกีครั้ง ในภาพรวมของฟาร์มสามารถทำเป็นกราฟได้ดังกราฟที่ 2


                จากกราฟที่ 2 ชัดเจนว่าแม่ส่วนมากออกลูกต่อปีแค่คอกเดียว ดังนั้นเราต้องค้นหาปัญหา และแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด้วยว่าปัญหาอยู่ที่อะไรกันแน่ การที่ผสมไม่ติดซ้ำซาก ลองดูอีกตัวอย่างคือการดูศักยภาพพ่อพันธุ์ที่ผสมติดว่าตัวไหนดี ตัวไหนควรคัดทิ้ง เราสามารถนำมาสร้างกราฟได้ดังกราฟที่ 3


                จากกราฟเราก็สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเก็บหรือปลดพ่อตัวไหนออกจากฝูง จากตัวอย่างข้างต้นคณะผู้วิจัยหวังว่าเจ้าของฟาร์มจะมองเห็นประโยชน์ของการเก็บข้อมูลในฟาร์มมากขึ้น และความสามารถของการวิเคราะห์ดังกล่าวสามารถทำได้มากกว่านี้ โดยในขณะนี้อยากให้ใช้ข้อมูลพื้นฐานก่อน ถ้าเราสามารถใช้ได้ดีเราจะสามารถขยับไปใช้ข้อมูลในส่วนอื่นได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

บทส่งท้าย
ถ้าการเก็บข้อมูลครบถ้วนถูกต้องการวิเคราะห์เป็นเรื่องง่ายดายจนเจ้าของฟาร์มสามารถทำเองได้ และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที สิ่งที่ผมจะไปศึกษาต่อนั้นเป็น ทั้งด้านการจัดการ อาหาร โรค หรือพูดง่ายๆคือ เราจะทำฟาร์มกระต่าย 1000 แม่ ได้อย่างไร แต่เรื่องต่างๆก็เป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลา ร่วมทั้งความร่วมมืออันดีระหว่างเจ้าของฟาร์มกระต่าย โดยทุกครั้งที่ผมเก็บข้อมูลผมถือว่าเรามีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อพัฒนาวงการกระต่ายในดำเนินไปข้างหน้าต่อไป
_______________________________________________________________________________________________________

ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด

Talk: การทดลองในฟาร์มตนเอง


Talk:       การทดลองในฟาร์มด้วยตนเอง

                   Farm experiment by myself


                  หลังจากหายไปนาน เนื่องจากกำลังยุ่งกับการทำงานวิจัยที่มหาลัย สองสัปดาห์ก่อนผมได้เสร็จการทดลองในกระต่ายเรียบร้อย ทำให้ตอนนี้เหลือแต่งานในห้องทดลอง และการเขียนบทความทางวิชาการ ถ้าผมได้ผลการทดลองอย่างไรก็คงเอามาเผยแพร่ในบอร์ดนี้ก็แล้วกันนะครับ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยได้รับเจอเหตุการณ์ในลักษณะดังต่อไปนี้หรือไม่ มีบริษัทมาที่ฟาร์มของท่านแล้วบอกว่าถ้าให้สารเร่งโตของบริษัทให้กระต่ายกินแล้วกระต่ายจะโตไว ตายน้อย ออกลูกดก หรือ มีอาหารสูตรใหม่ออกมา แล้วเพื่อนของท่านหรือคนรู้จักบอกว่าอาหารนี้มันดีกว่าอันก่อน ซึ่งเมื่อสืบสาวหาเหตุผลว่าทำไม บริษัท หรือผู้ที่แนะนำก็อาจจะตอบว่า ได้มีการทดลองพิสูจน์มาแล้วจากสถาบันวิจัยที่เชื่อถือได้ หรือเขาได้ทดลองใช้แล้วมันดีจึงบอกต่อ คำถามที่น่าสนใจหลังจากการได้รับคำตอบในลักษณะนี้ก็คือ การทดลองคืออะไร” “มันจะมีความถูกต้องขนาดไหนและ ถ้าเรายอมเสียเงินเพิ่ม หรือเสี่ยงที่จะใช้สินค้าใหม่ ผลที่ได้มันจะคุ้มค่าหรือไม่ในบทความนี้ผมจะพยายามตอบคำถามเหล่านี้ รวมทั้งเสนอแนวทางการทดลองในฟาร์มของตัวเอง ในขณะนี้ผมไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านมีคำถามในใจรึเปล่าว่า ทำไมเราต้องทดลองเองในฟาร์มด้วย ทั้งๆที่บริษัทก็ได้ทดลองมาให้แล้วว่ามีผลการทดลองเป็นอย่างไรคำถามนี้ก็จะได้ตอบในบทความนี้เช่นเดียวกันครับ
                การทดลอง (Experiment) คือ วิธีการยืนยัน องค์ความรู้ใหม่ว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร ซึ่งความรู้ดังกล่าวอาจจะมาจากการสังเกตุ ประสบการณ์ หรือความรู้พื้นฐานจากในอดีต เนื่องจากนักวิจัยจะเริ่มจากการศึกษาหาความรู้ในอดีตแล้วมาคิดวิเคราะห์ ประยุกต์ รวบรวมกับประสบการณ์ของนักวิจัย จากนั้นก็จะตั้งสมมติฐาน จากนั้นก็จะออกแบบการทดลองเพื่อยืนยันองค์ความรู้ใหม่ๆดังกล่าว ผมอาจยกตัวอย่างการทดลองง่ายๆให้เข้าใจดังเช่น มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งสังเกตว่าแม่กระต่ายที่อ้วนมักจะผสมไม่ค่อยติด ถึงจะผสมติดก็ให้ลูกน้อย แต่ในกระต่ายที่หุ่นดีไม่อ้วนไม่ผอมเกินไปกลับผสมติดได้ง่าย ให้ลูกต่อคอกเยอะ หลังจากนั้นนักวิจัยก็ไปอ่านหนังสือ และวารสารเพิ่มเติม แล้วพบว่าในสุกร และโค ได้มีการวิจัยมาแล้วว่าถ้าแม่อ้วนเกินไปย่อมส่งผลให้อัตราการผสมติด และจำนวนลูกต่อคอกลดลง ดังนั้นนักวิจัยจึงตั้งสมมติฐานว่า ความอ้วนในแม่กระต่ายมีผลต่ออัตราการผสมติด และจำนวนลูกต่อคอกหรือไม่ จากนั้นก็ออกแบบการทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว เห็นไหมครับ ว่าความรู้ดังกล่าวเป็นองค์ความรู้ใหม่ แต่ก็มีหลักฐานด้านความรู้ และการสังเกตมาประกอบ จากนั้นจึงทำการทดลองเพื่อพิสูจน์หลักการดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่
                ทุกครั้งที่มีใครบอกอะไรแก่เรา เรามักคิดเสมอว่ามันถูกต้องหรือไม่ เชื่อถือได้แค่ไหน แล้วเราจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันกับการทดลองนั้นเอง ว่าผลการทดลองที่เราอ่านอยู่มันถูกต้องเชื่อถือได้ขนาดไหน ความน่าเชื่อถือเกิดมาจากสองอย่างคือ จรรยาบรรณนักวิจัย และการออกแบบการทดลอง สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆเลยคือ ข้อแรก (จรรยาบรรณนักวิจัย) เนื่องจากถ้านักวิจัยเล่นนั่งเทียนเขียนผลการทดลอง หรือดัดแปลงข้อมูลให้เกิดความบิดเบือน ผลการทดลองนับว่าไร้ค่าทั้งที การป้องกันตรงนี้ในฐานะผู้อ่านก็คือความเชื่อใจ เพราะเวลาผมอ่านวารสารตีพิมพ์ผมมักจะจำชื่อนักวิจัยที่เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ แล้วบางครั้งที่มีการสัมมนาวิชาการผมก็ได้โอกาสเข้าไปพูดคุยปรึกษาทำให้ทราบว่านักวิจัยกลุ่มดังกล่าวมีจรรยาบรรณที่ดีในการทดลอง อีกข้อคือการออกแบบการทดลองในส่วนนี้ผมจะไม่ได้กล่าวโดยละเอียด แต่ถ้านักวิจัยดำเนินการวางแผนการทดลองตามทฤษฎีแล้วย่อมไม่มีปัญหาในการเอนเอียง หรือการทดลองผิดพลาด เพราะนักวิจัยทุกคนย่อมต้องใช้ สถิติ ซึ่งเครื่องมือที่จะบอกว่าต้องใช้สัตว์ทดลองเท่าไหร่ เลือกอย่างไร แล้วยังบอกว่าผลการทดลองได้ผลหรือไม่ เนื่องจากการแปลผลด้วยคน คนละกลุ่ม อาจจะแปลผลไม่เหมือนกัน จึงมีการคิดวิธีการทางสถิติ เพื่อให้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกัน ดังเช่น มีกระต่ายอยู่ 2 ตัว ถามคน 10 คนว่ากระต่ายตัวไหนหนักกว่ากัน คำตอบที่ได้มาย่อมแตกต่างกันไปตามความสามารถหรือประสบการณ์ของแต่ละคน ดังนั้นถ้าเราใช้เครื่องชั่งน้ำหนักเราก็จะทราบอย่างแน่นอนว่ากระต่ายตัวไหนหนักกว่ากัน จากตัวอย่างนี้กระต่ายสองตัวเหมือนสัตว์ทดลองที่ให้อาหารต่างกัน แล้วอยากรู้ว่าอันไหนดีกว่า จากนักวิจัยหลายๆกลุ่มอาจบอกไม่เหมือนกัน แต่เมื่อเราใช้เครื่องชั่งน้ำหนักซึ่งเปรียบเหมือนสถิติซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับ และมีความถูกต้อง ไม่ว่าทดลองที่ไหน กับใคร เมื่อเราอ่านผลเราก็เชื่อว่าเป็นจริงดังที่ได้กล่าวไว้
                การเปลี่ยนแปลงใดๆในฟาร์มย่อมถือว่าเป็น ความเสี่ยงดังเช่น การเปลี่ยนอาหารชนิดใหม่ทั้งฟาร์ม กระต่ายอาจจะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้น หรือ กระต่ายอาจจะโตไวขึ้นก็ได้ ดังนั้น การควบคุมความเสี่ยง (Risk management) จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาและปฎิบัติ การทดลองก็เป็นทางหนึ่งของการควบคุมความเสี่ยง เนื่องจากเราไม่ได้ให้กระต่ายทั้งฟาร์มใช้อาหารใหม่ แต่เราทดลองในกลุ่มกระต่ายที่เล็กกว่าเปรียบเทียบกับกระต่ายในฟาร์มที่กินอาหารเดิม แล้วคิดวิเคราะห์ว่าผลการทดลองเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะตอบคำถามได้ว่าจะรับผลิตภัณฑ์ตัวใหม่มาใช้ในฟาร์มหรือไม่ จริงๆแล้วการทดลองอาจจะเป็นได้ทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องอาหารอย่างเดียว ซึ่งทุกครั้งที่ผมคุยกับเจ้าของฟาร์มกระต่าย ผมได้เห็นว่าทุกคนได้ทำการทดลองมาแล้วทั้งนั้นโดยที่ไม่รู้ตัว ผมยกตัวอย่างง่ายๆเลย เมื่อกระต่ายคลอดลูกกี่วันถึงจะผสมรอบใหม่ ผมเชื่อว่าทุกฟาร์มถ้ามีพ่อแม่พันธุ์ย่อมต้องลองมาแล้ว เนื่องจากในต่างประเทศที่ผมศึกษาอยู่ เราสามารถผสมได้ตั้งแต่ 0, 7, 14 และ 21 วันหลังคลอด ซึ่งอัตราการผสมติด จำนวนลูกที่ได้มีการทดลองมามากมาย ซึ่งก็แน่นอนว่าประเทศไทยย่อมแตกต่างกัน ในจุดนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญว่าทำไมต้องทำการทดลองในฟาร์มของตัวเอง
                สำหรับคำถามสุดท้าย ทำไมต้องทำการทดลองในฟาร์มของตัวเองเนื่องจากการทดลองส่วนมากมักทำการศึกษาในต่างประเทศทำให้สภาพแวดล้อม อาหาร สายพันธุ์ การจัดการ หรือปัจจัยอื่นๆย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกับการทดลองผลจะแตกต่างหรือไม่ อย่างไรก็ตามการออกแบบการทดลองที่ดีย่อมมีหลักการที่จะควบคุมให้เหมือนกัน ต่างที่ ต่างเวลา ย่อมมีความเสี่ยงที่ผลการทดลองแตกต่างกันได้ ดังนั้นความแตกต่างระหว่างสิ่งแวดล้อมย่อมควบคุมได้จากการทดลองในฟาร์มของตนเอง แล้วยังเป็นการยืนยันมาใช้ได้จริงในฟาร์มของเราหรือไม่ ดังนั้นการออกแบบการทดลองต้องยึดกฎสามข้อคือ 1. สัตว์ทดลองต้องเริ่มต้นเหมือนกัน 2. จำนวนสัตว์ทดลองต้องมีมากเพียงพอ 3. ต้องควบคุมทุกอย่างให้เหมือนกันยกเว้น สิ่งที่ต้องการทดลองเพียงอย่างเดียว ถ้าท่านผู้อ่านต้องการทดลองสามารถบอกผ่าน blog นี้ได้ ผมจะพยายามตอบให้ครับ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีการเก็บข้อมูลของฟาร์มเป็นอย่างดี ก็สามารถนำมาให้ผมวิเคราะห์ได้ครับ
_____________________________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด