หัวข้อ

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Talk:ไข้น้ำนม1


Talk: 
ไข้น้ำนมในกระต่าย 1 (การช่วยเหลือ)  



              พอดีวันอังคารที่ผ่านมาเพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นหมออยู่โทรมาถามเรื่อง ไข้น้ำนมในกระต่าย ผมก็ให้รักษาประคับประ คองแม่ไปก่อนด้วยการให้แคลเซียม และสารน้ำ ส่วนลูกก็ให้กินนมแม่น้อยลงเนื่องจากมีลูก 7 ตัว สรุปว่ามีความสามารถรอดได้ครับ ก็ต้องยกความดีให้เพื่อนผมแหล่ะครับสามารถรักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะตอนนั้นผมเหมือนเคยอ่านเจอว่ามี แต่ไม่ได้รู้ละเอียดมาก ดังนั้นจึงถือโอกาสนี้สืบค้น และเขียนบทความนี้เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปได้ครับ
ไข้น้ำนม (Milk fever) คือภาวะที่แคลเซียมในกระแสเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งสามารถเป็นแบบแสดงอาการ (Clinical) หรือไม่แสดงอาการก็ได้ (Sub-clinical) อาการที่พบคือ ชักกระตุก (Tetany) นอนไม่ลุก (Lateral recumbancy) หูตก (Ear flapping) ขาหลังกระตุก (Jerking of hind limb) กล้ามเนื้อสั่น (Muscle tremor) และเสียชีวิต
พอพูดเรื่องนี้ก็จะคิดถึงโคนม เนื่องจากเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก และเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการ สาเหตุที่ทำให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำจนแสดงอาการมีสองทางคือ
1.ทางตรง กระต่ายเสียแคลเซียมออกนอกร่างกายมากเกินไปซึ่งส่วนมากจะพบในแม่ให้นม ท้องแรก มีลูกเยอะ เนื่องจากองค์ประกอบของนมกระต่ายประกอบไปด้วยแคลเซียมปริมาณสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นมาก รวมทั้งกระต่ายไม่ได้รับแคลเซียมเพียงพอต่อการดำรงชีวิตโดยเฉพาะช่วงที่ต้องการมากกว่าปกติดังเช่นช่วงให้นมลูก หรือก่อนคลอด เป็นต้น
2. ทางอ้อม เป็นมาจากกระต่ายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้เนื่องจากขาดวิตามินดี แต่อย่างไรก็ตามแคลเซียมสามารถดูดซึมโดยไม่ต้องใช้วิตามินดีก็ได้ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป สมดุลแคลเซียม ฟอสฟอรัสที่เสียไป ฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมผิดปกติ อาหารที่มีแร่ธาตุหรือสารที่ยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม ขาดแมกนีเซียมจากอาหารที่มีแมกนีเซียมต่ำ โรคไตที่ไม่สามารถควบคุมการขับแคลเซียมได้ เป็นต้น  
การตรวจยืนยัน ก่อนการตรวจยืนยันให้รักษาชีวิตกระต่ายก่อน เนื่องจากกระต่ายจะมาด้วยอาการที่อ่อนแอ ควรให้สารน้ำตามที่กระต่ายสูญเสียไป จากนั้นตรวจหาแคลเซียมในเลือดจากซีรั่ม โดยค่าปกติอยู่ในช่วง 12.8-14.8 mg/dl (3.2-3.7 mmol/l) แต่ในกระต่ายให้นมสามารถลดลงมาอยู่ในช่วง 10-11 mg/dl ส่วนในกระต่ายที่แสดงอาการจะพบว่ามีระดับแคลเซียมอยู่ในช่วง 5.4-6.2 mg/dl
สามารถรักษาโดยให้แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) เข้าเส้นเลือดหรือช่องท้องช้าๆ ในขนาด 0.6 mg Ca/kg ภายในสองชั่วโมงกระต่ายจะกลับมามีอาการปกติ จากนั้นต้องดูระดับแคลเซียมในเลือดทุก 6 ชั่วโมงเพื่อประเมินอาการและป้องกันไม่ให้ระดับแคลเซียมในเลือดกลับไปต่ำอีก สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ แยกลูกกระต่ายออกจากแม่เพื่อให้กินนมน้อยลง และให้นมเสริม โดยวิธีการสามารถดูได้ในบทความ “แม่กระต่ายไม่เลี้ยงลูก” สามารถเสริมอาหารแคลเซียมสูง

การป้องกันคือการให้อาหารที่มีสัดส่วนของแคลเซียมที่ถูกต้องในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ผมจะกล่าวในบทความ อาหารกับไข้น้ำนม : Food vs milk fever prevention”

ในบทความตอนต่อไปผมจะกล่าวถึงหลักการต่างๆที่มาสนับสนุนความคิดที่ผมได้เขียนไปในข้างต้นครับ
 __________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น