หัวข้อ

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Talk:ไข้น้ำนม4




Talk: ไข้น้ำนมในกระต่าย 4 (หลักการ ตอนจบ)








            จริงๆแล้วบทความทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากรายงานการวิจัยอันนี้ครับ หลังจากที่เพื่อผมถามพอเจองานวิจัยอันนี้ผมก็สบายใจเลยครับ งานวิจัยคือการทดลองในจำนวนสัตว์ที่มีการคิดวิเคราะห์อย่างดีแล้วว่าเป็นตัวแทนของประชากรในชีวิตจริงได้ แต่อย่างไรก็ตามนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง แล้วประสบผลสำเร็จย่อมดีกว่าผลสำเร็จทางการทดลอง เนื่องจากการทดลองก็ทำเพื่อให้สามารถใช้ได้ในชีวิตจริงนั่นเอง
                จากการทดลองของ Barlet (1980) ได้ทดลองเปรียบเทียบกระต่ายปริมาณของ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม ในเลือดกระต่าย ระหว่างกระต่ายปกติกับกระต่ายท้องจนให้นม (รูปที่ 1) แกนนอนคือระยะเวลาของกระต่าย เลข 20 จากด้าน ซ้ายคือ ก่อนคลอด 20 วัน เลข 0 คือวันที่คลอด ส่วนเลข 20 ด้านขวาคือ วันที่ 20 หลังคลอดซึ่งอยู่ในช่วงให้นมลูก แกนตั้งคือความเข้มข้นของสารในเลือด โดยจากด้านบนสู่ด้านล่างคือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม ตามลำดับ โดยสีเขียวเป็นกลุ่มควบคุมคือ กระต่ายไม่ได้ท้องสุขภาพดี ส่วนสีแดงคือกลุ่มกระต่ายที่ท้อง คลอดลูก และให้นม ถ้าพบดอกจันหมายความว่ามีความแตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง กลุ่มควบคุม และกลุ่มกระต่ายที่ท้อง ดอกจันสองดอก (P<0.01) แสดงว่ามีความแตกต่างมากกว่าดอกจัน 1 ดอก (P<0.05) ถ้าไม่พบดอกจันแสดงว่าไม่แตกต่างกัน โดยวิธีการดูว่าแตกต่างกันหรือไม่ใช้วิธีทดสอบทางสถิติ เมื่อนักวิจัยทดลองสิ่งต่างๆเช่น กินอาหาร A กับ อาหาร B อันไหนดีกว่า สมมติสุนัข 10 ตัวกิน A มากกว่า B อยู่ 6 ตัว ถ้าเอาไปถามคนซัก 10 คน ก็บอกคงบอกไม่เหมือนกันว่าอันไหนดีกว่า อาจจะตัวอย่างน้อยไปหรืออะไรก็ตาม ดังนั้นจึงสร้างสถิติขึ้นมาทดสอบเหมือนวิธีตรวจสอบมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับ ทำให้สามารถบอกได้ว่าผลการทดลองที่ได้นั้นเหมือนหรือต่างกันนั่นเอง


รูปที่ 1 แสดงระดับแคลเซียม (บนสุด) ฟอสฟอรัส (กลาง) และ แมกนีเซียม (ล่างสุด)  ที่แตกต่างระหว่างกระต่ายปกติ (สีเขียว) และการต่ายอุ้มท้องและให้นม (สีแดง) ในช่วงการผลิตที่แตกต่างกัน

                จากผลการทดลองเห็นชัดว่า ระดับของแคลเซียม และฟอสฟอรัสในเลือดในช่วง ก่อนคลอด คลอด หลังคลอด ไปถึงช่วงอย่านม กระต่ายได้สูญเสียระดับแคลเซียมลงไปมากเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แล้วกว่าจะกลับมาก็ใช้เวลานานเกือบ 70 วันหลังคลอด พบว่าถ้าระดับแคลเซียมอยู่ในช่วง 10-11 mg/dl กระต่ายจะไม่แสดงอาการและสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ แต่ถ้ากระต่ายมีปริมาณเลือดต่ำเกินไปก็ทำให้มีอาการและเสียชีวิตได้ ดังนั้นการรักษาได้มาจากการทดลองในรูปที่ 2 โดยเป็นการวัดระดับแคลเซียมหลังการฉีดแคลเซียม 0.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเข้าสู่ช่องท้องกระต่าย โดยกระต่ายที่มีอาการทางคลินิกและมีระดับแคลเซียมต่ำมาก จากการช่วยเหลือดังกล่าวสามารถทำให้ระดับแคลเซียมอยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้ที่ประมาณ 11 mg/dl ก็เป็นที่มาของคำแนะนำข้างต้นนะครับ 
รูปที่่ 2 ระดับแคลเซียม (สีเขียว) และฟอสฟอรัส (สีน้ำเงิน) หลังจากการฉีดแคลเซียม 0.6 mg/kg เข้าช่องท้องกระต่าย

น.สพ.อรรถวิทย์ โกวิทวที
(นิสิตปริญญาเอกสาขาการเพาะพันธุ์กระต่าย มหาวิทยาลัยตูริน ประเทศอิตาลี)

____________________________________________________________________________________________________________________________________________________________

ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น