หัวข้อ

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Talk:ไข้น้ำนม3


Talk: ไข้น้ำนมในกระต่าย 3 (หลักการ)  




ฟอสฟอรัส ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของกระดูก และการเผาผลาญพลังงาน ในกระต่ายเด็กจะสามารถดูดซึมฟอสฟอรัสได้ดีกว่าในกระต่ายโตเนื่องจากต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่า ฟอสฟอรัสที่ดูดซึมจากลำไส้เล็กส่วนต้น และส่วนกลาง
ฟอสฟอรัสในอาหารของกระต่ายจะอยู่ในรูปของ Phytate phosphorus ซึ่งเอนไซม์จากกระต่ายไม่สามารถย่อยฟอสฟอรัสออกมาใช้งานได้ แต่สามารถย่อยด้วย Phytase จากแบคธีเรียในซีกั่ม (Caecum) ได้ ซึ่งฟอสฟอรัสที่ย่อยแล้วจะออกมากับอุจจาระกลางคืนและจะถูกกระต่ายกินกลับเข้าไปเพื่อนำฟอสฟอรัสไปใช้ในร่างกาย นอกจากนี้ยังพบ Phytase ในข้าวสาลี ดังนั้นถ้าผสมข้าวสาลีในอาหาร กระต่ายก็สามารถนำฟอสฟอรัสได้ทันทีไม่ต้องรอการย่อยจากแบคธีเรีย
สัดส่วนของแคลเซียม และฟอสฟอรัสมีความสำคัญมากโดยสัดส่วนที่ดีที่สุดคือ แคลเซียม:ฟอสฟอรัส=2:1 การที่แคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลให้มีความผิดปกติต่อร่างกาย
แมกนีเซียมส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในกระดูกร้อยละ 70 ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยปฎิกิริยาต่างๆ (Cofactor) การขาดแมกนีเซียมส่งผลให้ การเจริญเติบโตที่ช้า ขนร่วง ขนไม่มันเงางาม และมีพฤติกรรมกินขนตัวเอง กระต่ายควรได้รับปริมาณแมกนีเซียมในช่วง 0.3-3 กรัมต่อกิโลกรัม โดยปกติมักให้ในขนาด 1.7 กรัมต่อกิโลกรัม แมกนีเซียมที่เกินความจำเป็นจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ
ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (PTH) จะสามารถทำงานได้ต้องประกอบไปด้วยแมกนีเซียมและความเป็นกรดด่างที่พอเหมาะ (ดังรูปที่ 2) รูปซ้ายสุดหรือหมายเลขหนึ่ง เมื่อระดับความเป็นกรดด่างพอเหมาะและมีแมกนีเซียมมากเพียงพอสามารถทำให้ PTH สามารถทำงานได้ ในรูปกลางหรือหมายเลขสอง มีความเป็นกรดด่างเปลี่ยนไปส่งผลให้ตัวรับ (Receptor) มีการเปลี่ยนรูปไปเนื่องจากตัวรับคือโปรตีนที่เปลี่ยนแปลงตามความเป็นกรดด่างจึงไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากการทำงานของฮอร์โมนใช้ทฤษฎี Lock and key (ทฤษฏีแม่กุญแจ กับลูกกุญแจ) คือต้องมีรูปร่างที่สามารถเข้ากันได้อย่างพอดีถึงจะทำให้มีกลไกทำงานต่อไปได้ เปรียบเสมือนแม่กุญแจ กับลูกกุญแจ รูปทางขวาหรือรูปที่3 มีปริมาณของแมกนีเซียมในเลือดน้อยกว่าปกติ เนื่องจาก Adenyl cyclase complex (ตัวสีฟ้าด้านล่าง) ต้องการแมกนีเซียมมาเป็นตัวช่วย (Coenzyme) ในการทำงานต่อไป เมื่อแมกนีเซียมไม่เพียงพอก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้นั่นเอง
ปกติแมกนีเซียมสามารถพบในพืชอาหารสัตว์ แต่ในบางกรณีที่พืชดังกล่าวปลูกในดินที่มีแมกนีเซียมต่ำ ส่งผลให้พืชในพื้นที่ดังกล่าวเก็บแมกนีเซียมไว้ในปริมาณน้อยกว่าปกติ แล้วส่งผลให้สัตว์ที่กินพืชดังกล่าวได้รับแมกนีเซียมในระดับที่ไม่เพียงพอ

รูปที่ 2 แสดงการทำงานของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (PTH) ในสภาวะแตกต่างกัน

ในบทความต่อไปจะกล่าวถึงงานวิจัยว่ากระต่ายระดับแคลเซียมในระยะท้อง ให้นมลูก และภาวะปกติ มีความแตกต่างอย่างไร

________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น