หัวข้อ

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กรงสำหรับการผลิตกระต่าย

กรงสำหรับการผลิตกระต่าย
Cage for rabbit production
      
บทความนี้จะกล่าวเกี่ยวกับกรงที่ใช้ในการผลิตกระต่าย จวบจนมาตรฐานของกรงที่เป็นข้อกำหนดโดยคำนึงจากหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งรูปแบบของกรง และอุปกรณ์ต่างๆในฟาร์มกระต่าย บทความนี้ได้เขียนขึ้นจากการรวบรวมบทความวิชาการ ประสบการณ์ สัมภาษณ์นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าว และความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผมหวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ไปไม่มากก็น้อย ถ้ามีข้อซักถามหรือข้อเสนอแนะประการใดสามารถติดต่อมาได้ที่ attawitthai@gmail.com สำหรับข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

น.สพ.อรรถวิทย์ โกวิทวที
(นิสิตปริญญาเอกสาขาการเพาะพันธุ์กระต่าย มหาวิทยาลัยตูริน ประเทศอิตาลี)
________________________________________________________________________________

1.
สวัสดิภาพสัตว์เกี่ยวกับกรง และขนาดกรง
Cage VS animal welfare and cage size

          การวิวัฒนาการของการผลิตสัตว์นั้นเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ในอดีตที่ปริมาณอาหารไม่เพียงพอต่อปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการผลิตสัตว์มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ได้ปริมาณมาก และรวดเร็วที่สุด หลังจากนั้นเมื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันผู้บริโภคได้ใส่ใจถืง คุณภาพ และความสะอาดของอาหารซึ่งก็จะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งเป็นค่านิยมที่ได้รับความสนใจในขณะนี้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีการพูดถึงมากขึ้นเกี่ยวกับ สวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) ซึ่งผมว่าเมืองพุทธอย่างเราน่าจะเข้าใจหลักการนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากเราเชื่อเรื่องของกรรม เรามีความจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นเราก็ควรให้ช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่เป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด ตลอดจนช่วงสุดท้ายของชีวิต ดังนั้นจึงมีกฎจากกรมปศุสัตว์ทั้งในไทย และต่างประเทศ ซึ่งต่างก็มุ่งเน้น และส่งเสริมการใช้สวัสดิภาพสัตว์ในการผลิตสัตว์ด้วยกันทั้งนั้น
          สวัสดิภาพสัตว์คือ ตลอดเวลาการผลิตสัตว์ต้องได้รับอิสระทั้ง 5 ประการ (Five freedom) คือ 1. อิสระจากความหิว และกระหาย (Freedom from hunger or thirst) 2.อิสระจากความไม่สบาย (Freedom from discomfort) 3.อิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ หรือโรค (Freedom from pain, injury or disease) 4.อิสระที่จะแสดงพฤติกรรมส่วนใหญ่ตามธรรมชาติ (Freedom to express most normal behaviour) 5.อิสระจะความกลัว และความเครียด (Freedom from fear and distress) คำถามต่อมาคือ เราจะรู้ได้อย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้สัตว์ได้รับอิสระทั้งห้านี้ โดยหลักปฎิบัติหรือกฎที่ออกมาก็ได้มาจากการทดลอง และนำมาประยุกต์ใช้
          สำหรับเรื่องขนาดมาตรฐานของกรง ผมแนะนำให้ตามใช้มาตรฐานของสหภาพยุโรป (European union of animal welfare) เนื่องจากผมพึ่งได้ไปสัมมนาเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ของการทำฟาร์มกระต่ายมา โดยนักวิชาการได้กล่าวว่าจะพยายามพลักดันให้เป็นกฎที่ต้องทำตามในที่สุดโดย เรื่องของขนาดกรงได้มีข้อกำหนดดังแสดงในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงข้อกำหนดของขนาดกรงกระต่ายที่กำหนดจากสหภาพยุโรป

ความกว้างน้อยสุด (เซนติเมตร)
ความยาวน้อยสุด (เซนติเมตร)
ความสูงน้อยสุด (เซนติเมตร)
แม่พันธุ์+รังคลอด
38
75
45
รังคลอด*
24
36
15
พ่อพันธุ์
38
65
50
กระต่ายขุน
38
50
40
*สามารถเปลี่ยนตามขนาดของลูก และจำนวนลูกได้

2.
วัสดุเพื่อสร้างกรง (ไม้ และ ลวด)
Equipments for cage (wood and wire)

          วัสดุหลักที่ใช้ในการสร้างกรงกระต่ายมีสองอย่างคือ ไม้ และลวด ในระยะยาวผมแนะนำให้ใช้ลวดมากกว่าเนื่องจากโครงสร้างดังกล่าวสามารถใช้งานได้นาน แข็งแรง ทนต่อปัสสาวะของกระต่าย เนื่องจากถ้าเป็นวัสดุอื่นอาจจะพังทำให้ต้องเสียเวลา และเงินในการบำรุงรักษา อย่างไรก็ตาม ฟาร์มส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะใช้พื้นกรงเป็นไม้ และครอบด้วยกรงที่เป็นลวดเหล็ก ไม้ที่ทำเป็นพื้นมีความกว้างประมาณ 1-2 นิ้ว วางตัวเป็นแนวยาว (รูปที่ 1) ข้อดีคือ การเกิดปัญหาเกี่ยวกับส้นเท้าอักเสบเกิดได้ยากมาก (Sore hock and pododermatitis) แต่ปัญหาที่ตามคือ ความหมักหมมของจุลชีพ ทำความสะอาดได้ยาก และไม่ทนทาน โดยก็ขึ้นอยู่กับชนิดไม้ที่เราใช้
          ความรู้สึกอย่างนึงที่ผมทราบว่าฟาร์มส่วนมากไม่ค่อยใช้พื้นกรงเป็นลวดเนื่องจากกลัวปัญหาส้นเท้าอักเสบ หรือเป็นแผล ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ โดยหลักการปัญหาดังกล่าวขึ้นอยู่กับขนาดลวดที่ใช้ และความถี่ของตารางว่าจะสามารถรับน้ำหนักของกระต่ายได้หรือไม่ สำหรับกระต่ายขุนสามารถใช้พื้นกรงเป็นลวดได้ แต่สำหรับแม่พันธุ์กับพ่อพันธุ์ควรจะเป็นพลาสติกเหนียวหรือไม้เนื่องจากกระต่ายชุดขุนจะมีน้ำหนักมากและอยู่เป็นเวลานาน ลวดที่ใช้เป็นลวดชุบสังกะสี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลวดต้องมากกว่า 0.08 นิ้ว (14G) เนื่องจากลวดที่มีขนาดเล็กกว่านี้จะบาด มากไปกว่านั้นกระต่ายมีพฤติกรรมกัดแทะซึ่งอาจจะไปกัดลวดทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ โดยลวดที่ใช้นิยมให้เป็นรูปตาราง สำหรับพื้นกรง ขนาดของช่องที่แนะนำควรเป็น 3/4นิ้ว x 3/4นิ้ว โดยถ้าเล็กเกินไปอุจจาระจะค้างอยู่ในกรง ถ้าใหญ่เกินไปอาจทำให้เท้าติดได้ โดยเส้นผ่านศูนย์ลวดสำหรับพื้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 0.08 นิ้ว (14G) สำหรับผนัง และหลังคากรง จะใช้ลวดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากัน แต่มีช่องที่กว้างกว่าเป็น 1 x 2 นิ้ว อย่างไรก็ตามในกรงแม่อาจมีการเสริมลวดกันลูกตก (Baby saver wire) โดยเพิ่มเส้นลวดอีกเส้นที่ผนังด้านข้างทำให้ช่องของผนังด้านข้างเป็น 1 x 1 นิ้ว ให้มีความสูงจากพื้นประมาณ 2-3 นิ้ว เพราะว่าช่องว่างขนาด 1 x 2 นิ้ว ลูกกระต่ายแรกคลอดที่หลุดจากรังคลอดอาจจะหลุดออกมานอกกรงได้

          กรงของแม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์ เนื่องจากกระต่ายในชุดผสมจะอยู่นานมากกว่า 1 ปี ในกรง ดังนั้นพื้นกรงจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้กระต่ายไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเท้า ดังนั้นพื้นกรงที่ทำจากไม้ หรือทำจากพลาสติกเหนียวจะดีกว่ามาก ถ้าเป็นไปได้ผมแนะนำพื้นกรงที่ทำมาจากพลาสติกเหนียวเนื่องจากสามารถถอดมาล้างได้อย่างสะดวก และมีความสะอาดมากกว่าไม้ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องคำนวณถึงต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่เราจะลงทุนด้วย


            สำหรับรังคลอด มีหลักการคือ ควรมีขนาดอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น มีขอบสูงเพื่อกันลม ไม่ให้ลูกออกมา และหนักพอที่จะไม่ให้แม่กระต่ายคว่ำได้ โดยรังคลอดสามารถทำแบบใส่ในกรง หรือเป็นส่วนแยกออกมาก็ได้ โดยแบบแยกออกมาค่อนข้างดีกว่าเนื่องจากเราสามารถตรวจลูกได้เร็วกว่า และเป็นสัดส่วน โดยรังคลอดสามารถทำจากกล่องไม้ หรือวัสดุอื่น โดยในต่างประเทศจะเป็นแบบแยกออกมาแล้วจะต่ำกว่าระดับพื้นของกรงแม่ ทำให้สามารถแยกแม่กับลูกได้ แล้วแม่ก็ไม่กระโดดเข้ากล่องทำให้โอกาสเหยียบลูกด้วยความแรงน้อยลงกว่าที่แม่ลงจากที่สูงไปหาลูก 




3.
รูปแบบกรง และการกำจัดของเสีย
Cage system and waste management
         
          รูปแบบกรงนั้นควรทำให้สะดวกต่อการปฎิบัติงาน และประหยัดต่อพื้นที่ให้ได้มากที่สุด สำหรับกรงของแม่พันธุ์มักจะเป็นกรงชั้นเดียว เนื่องจากจะง่ายต่อการดูแลปฎิบัติงาน ส่วนกรงกระต่ายขุนจะมีการจัดเรียงในหลายรูปแบบ โดยผมจะอธิบายโดยใช้รูปจะทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่าการเขียนบรรยาย ส่วนการกำจัดของเสียด้านล่างกรงกระต่ายควรเป็นหลุมลงไปที่สูงกว่าทางเดิน โดยพื้นมักทำให้มีความลาดชันทำให้สามารถใช้น้ำล้างออกนอกโรงเรือนได้สะดวก โดยถ้ากรงเป็นหลายชั้นก็ต้องมีถาดที่ป้องกันของเสียจากกรงบนมาเปื้อนกรงล่าง สามารถใช้เป็นสังกะสี หรือพลาสติกก็ได้ การที่รวมของเสียก็สามารถนำไปทำปุ๋ย หรือแก็สชีวภาพก็ได้


4.
อุปกรณ์อื่นๆในฟาร์มกระต่าย
Other equipment in rabbit farm

          สำหรับอุปกรณ์อื่นๆคือ ที่ให้น้ำ และอาหาร สำหรับที่ให้น้ำมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากถ้ากระต่ายขาดน้ำเมื่อไหร่ กระต่ายจะลดอัตราการกินทันที ทำให้โตช้า และส่งผลต่อสุขภาพ สำหรับที่ให้น้ำมี 3 แบบหลักๆคือ ถ้วยน้ำ ขวดน้ำติดกับกรง และจุ๊บให้น้ำแบบระบบท่อ สำหรับแบบถ้วยน้ำผมไม่แนะนำให้ใช้ในฟาร์ม เนื่องจากดูแลจัดการยาก ไม่ว่าการเติมน้ำ กระต่ายสามารถคว่ำถาดน้ำ และที่สำคัญการใช้ภาชนะใส่น้ำแล้วใส่ในกรง มีโอกาสที่อุจจาระ ของเสีย หรือตัวกระต่ายเข้าไปในน้ำทำให้เกิดความปนเปื้อน แล้วส่งผลต่อสุขภาพกระต่ายได้ สำหรับแบบขวดน้ำติดกรงค่อยข้างนิยมใช้ แต่อย่างไรก็ตามการทำความสะอาดขวด และการเติมน้ำก็เป็นงานที่ต้องใช้เวลามาก สุดท้ายคือระบบท่อกับจุ๊บ เป็นวิธีที่ดีมากเมื่อเลี้ยงกระต่ายจำนวนมากทำให้ไม่มีเวลาดูแลทุกตัว หลักการเลือกว่าจุ๊บแบบไหนใช้งานได้คิดตามหลักการกินน้ำของกระต่าย โดยกระต่ายจะใช้ลิ้นในการดันให้น้ำไหลออกมา ดังนั้นจุ๊บไม่ควรจะใช้แรงมากเกินไปในการเปิด ระบบท่อจะมีถังน้ำให้อยู่สูงกว่าระดับกรงแล้วใช้ปั้มเพื่อนำน้ำขึ้นไปใช้ทั้งระบบ ปัญหาที่มักจะพบเจอเมื่อใช้จุ๊บน้ำคือ ถ้าน้ำมีแคลเซียมอยู่เยอะจะทำให้จุ๊บตันทำให้กระต่ายไม่สามารถดื่มน้ำได้ สามารถป้องกันปัญหาดังกล่าวโดยสังเกตเสมอว่ากระต่ายกินอาหารลดลงหรือไม่ เพราะอาการแรกและเร็วที่สุดเมื่อกระต่ายขาดน้ำ คือกระต่ายจะกินอาหารลดลง โดยปกติแล้วทุกสัปดาห์ควรสุ่มตรวจจุ๊บว่าทำงานได้ดีหรือไม่


        ในส่วนที่ใส่อาหารมีหลักสำคัญคือ สะอาด แห้ง และกระต่ายไม่สามารถทำให้อาหารตกออกจากภาชนะได้ เนื่องจากกระต่ายไม่ชอบกินอาหารที่มีน้ำปน หรือไม่สะอาด ธรรมดาในประเทศไทยผมมักจะเห็นใช้ถ้วยใส่ในกรง ซึ่งค่อนข้างยากต่อการจัดการดูแล และไม่สะอาด เนื่องจากกระต่ายสามารถเข้าไปนั่งในถาดอาหาร ทำให้ของเสียปนเปื้อนได้ สำหรับหญ้าหรือผักที่ให้เสริมไม่ควรให้ในกรง เนื่องจากกระต่ายจะนำไปเป็นสิ่งปูรองทำให้เสียอาหาร และก่อความสกปรกมากขึ้น โดยหญ้าและผักควรให้วางบนกรงแล้วกระต่ายจะดึงเข้าไปเพื่อกินเท่านั้น ส่วนที่ให้อาหารมีลักษณะต่างๆดังรูปข้างล่าง



5.
บทสรุป และข้อเสนอแนะ
Conclusions and suggestions

          สุดท้ายนี้การวางแผนลงทุนในระบบกรงผมคิดว่าเป็นการลงทุนที่ต้องคิดเป็นอย่างดี เนื่องจากกรงดังกล่าวเราก็จะใช้มากกว่า 5 ปี ดังนั้นจุดประสงค์ และทุนที่ยอมรับได้ ต้องคำนวณ และคิดวิเคราะห์ให้เป็นอย่างดี สำหรับกรงกระต่ายขุนผมแนะนำให้ใช้แบบลวดทั้งหมด ส่วนสำหรับชุดผสมให้ใช้พื้นเป็นพลาสติกเหนียวจะดีกว่า รูปแบบกรงสำหรับกระต่ายขุนให้แบบรูปที่ 11 ส่วนของพ่อแม่พันธุ์ให้เป็นกรงชั้นเดียว ระบบน้ำเป็นแบบท่อ และอาหารให้เป็นดังรูปที่ 27 และ 28 สุดท้ายนี้ก็อย่างลืมเรื่องสวัสดิภาพกระต่ายกับขนาดกรงที่สมควรด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น