หัวข้อ

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การเลือกกระต่ายทดแทน

การเลือกกระต่ายทดแทน
The technique for replacement rabbit selection
      
บทความนี้ได้เขียนขึ้นจากการรวบรวมบทความวิชาการ ประสบการณ์ สัมภาษณ์นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าว และความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผมหวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ไปไม่มากก็น้อย ถ้ามีข้อซักถามหรือข้อเสนอแนะประการใดสามารถติดต่อมาได้ที่ attawitthai@gmail.com สำหรับข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

น.สพ.อรรถวิทย์ โกวิทวที
(นิสิตปริญญาเอกสาขาการเพาะพันธุ์กระต่าย มหาวิทยาลัยตูริน ประเทศอิตาลี)
________________________________________________________________________________
         
1.
บทนำ
The introduction

          การเลือกกระต่ายเพื่อขึ้นมาเป็นแม่ทดแทนเป็นเรื่องที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการจัดการฟาร์มกระต่าย โดยการคัดเลือกลูกที่มีความสามารถที่จะเติบโตเป็นแม่ที่ให้ผลผลิตที่ดีในอนาคต เป็นจุดประสงค์หลักของการคัดเลือกกระต่ายทดแทน ผมมั่นใจว่าทุกครั้งที่มีการคลอดลูกย่อมมีลูกกระต่ายที่มีศักยภาพดังกล่าวอยู่ ดังนั้นก็มีคำถามต่อมาว่าจะใช้หลักการ หรือดัชนีอะไรมาเป็นเครื่องมือตัดสินใจในการค้นหา คัดเลือก และตัดสินใจ อย่างที่ทราบกันดีในอดีตมนุษย์ได้นำสุนัขป่ามาเพาะเลี้ยง จากนั้นก็คัดเลือกลักษณะที่พึงประสงค์ ซึ่งอาจจะเป็นจากรูปร่าง นิสัย สี เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันมีสุนัขมากมายหลายสายพันธุ์ตามความต้องการของมนุษย์ อาจจะกล่าวได้ว่าการคัดเลือกดังกล่าวก็เป็นการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะตามที่พึงประสงค์ แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาสายพันธุ์ก็ต้องใช้เวลานาน โดยในกระต่ายเราจะเห็นผลความแตกต่างอย่างชัดเจนประมาณรุ่นที่ 15 ขึ้นไป คิดคร่าวๆก็เป็นเวลาประมาณ 7 ปี เป็นอย่างน้อย ฟังแล้วอาจจะตกใจว่าทำไมถึงนานอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของการพัฒนาสายพันธุ์ แต่เราสามารถทำให้เร็วขึ้นโดยผสมข้ามสายพันธุ์ก็จะสามารถทำให้ประสิทธิภาพ และมองเห็นความแตกต่างได้เพียงใช้เวลาประมาณ 2-4 รุ่น ดังเช่น การพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายบ้านกับกระต่ายเนื้อต่างประเทศ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพการผลิตที่สูง ก็จะทำให้สุขภาพของกระต่ายไม่ดี ยิ่งกระต่ายมีเลือดของต่างประเทศมากก็ทำให้ไม่ทนต่อโรค ความร้อน ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้ ดังนั้นผมจึงชอบฟาร์มที่ใช้กระต่ายในฟาร์มตัวเอง แล้วค่อยๆพัฒนาขึ้นมา เพราะเราจะได้ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันคือ ประสิทธิภาพ และความแข็งแรง แต่ของดีมันก็ต้องใช้เวลานะครับ

          ปกติแล้วเมื่อเราจะนำลูกขึ้นมาเป็นแม่ทดแทน เราควรมีหลักการเลือกบางประการ โดยหลักการที่นิยมคือดูจากประวัติแม่ ถ้าแม่ดี ผสมกับพ่อที่ดี ก็ควรที่จะให้ลูกที่ดี จากนั้นก็ดูลูกในคอกว่าตัวไหนควรจะเก็บเป็นแม่พันธุ์ที่สุด และอย่างลืมว่าเรามีอัตราทดแทนแม่อยู่ที่เท่าไหร่ ถ้าทดแทนมามากไป หรือน้อยไปย่อมมีปัญหาในภายภาคหน้าแน่นอน โดยดัชนีที่จะใช้เลือกนั้นผมก็จะกล่าวถึงรายละเอียดในบทความนี้นะครับ อย่างไรก็ตาม จะทราบได้อย่างไรว่าแม่ไหนดี เราต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่ดีเป็นระบบเสียก่อน แล้วจึงนำมาคิดเปรียบเทียบ ถ้าฟาร์มมีการเก็บข้อมูลโดยมีข้อมูลอย่างที่ผมเคยเขียนในบทความ ความสำคัญ และประโยชน์จากฐานข้อมูลพื้นฐาน สามารถนำข้อมูลดังกล่าวส่งมาที่ attawitthai@gmail.com แล้วผมยินดีจะวิเคราะห์ดัชนีในฟาร์มให้ครับ

          หลักการที่สำคัญที่เราต้องเข้าใจก่อนคือ ลักษณะที่สัตว์แสดงออก (Phenotype) หรือลักษณะที่ใช้ตาเปล่าสังเกตเห็นได้ ดังเช่น สี การให้ลูกดก ผสมติดที่ดี อัตราการตายต่ำ เป็นต้น เกิดจากตัวแปรสองตัวรวมกันคือ พันธุกรรม (Genetic) และสิ่งแวดล้อม (Environment) โดยพันธุกรรมก็คือเรื่องของสายพันธุ์นั่นเอง โดยการพัฒนาสายพันธุ์ก็เกิดมาจากการคัดเลือกพันธุกรรมที่ดี หรือลักษณะที่พึงประสงค์ มาผสมกันก็จะได้ลูกตามที่ต้องการ อีกสิ่งหนึ่งคือสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยง โดยหลักแล้วจะหมายถึงการจัดการ และอาหาร ก็ส่งผลสนับสนุนหรือยับยั้งลักษณะที่พึ่งประสงค์ด้วย ดังเช่นเราเลี้ยงโคนมพันธุ์แท้จากต่างประเทศ ที่ชอบอยู่อากาศเย็น และต้องการอาหารโปรตีนสูง แต่ดันให้อยู่อากาศร้อนๆ อาหารที่ให้คุณค่าก็ไม่ถึง โคนมที่มีพันธุกรรมที่ดีก็ไม่สามารถให้ผลผลิตที่ดีตามที่ควรจะเป็นได้ ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเมื่อมีการปฎิสนธิ หรือผสมพันธุ์ลูกที่ได้จะมีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมจากพ่อ และแม่อย่างละครึ่ง ดังนั้นการเลือกพ่อ และแม่ที่ดีก็มีความสำคัญเช่นกัน มากไปกว่านั้นการแลกเปลี่ยนที่ได้กล่าวไปเป็นแบบสุ่มทำให้เราสังเกตเห็นได้ว่าลูกที่ได้ในแต่ละคอกก็ยังมีความแตกต่างกันออกไปอีก ดังนั้นหลังจากเราใช้พ่อแม่ที่ดีแล้ว ลูกในคอกเราก็ต้องหาปัจจัยมาเลือกว่าตัวไหนถึงจะดี เพราะลูกแต่ละตัวก็จะให้ประสิทธิภาพการผลิตที่แตกต่างกันอีกนั่นเอง

          เป็นอย่างชัดเจนจากผลการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับว่าการใช้โปรแกรมคัดเลือกลักษณะที่พึงประสงค์สามารถทำให้ลูกต่อคอกเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 0.05-0.13 ตัวต่อคอก การเลือกใช้พ่อพันธุ์ที่มีประวัติการโตต่อวันที่ดี (Average daily weight gain: ADG) มาผสมก็ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมของลูกเมื่อขึ้นสู่ชุดผสมมีปริมาณเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเราก็ควรคำนึงถึงสุขภาพของแม่กระต่าย อัตราการคัดทิ้ง รวมด้วย ไม่ใช้คำนึงแต่ผลผลิตที่สูงเพียงอย่างเดียว ดังนั้นงานทดลองจึงมุ่งเน้นเพื่อหาดัชนีในวันนี้เพื่อบ่งบอก หรือคาดเดาประสิทธิภาพที่ดี และสุขภาพที่ดีในอนาคตนั่นเอง

2.
การจัดสรรการใช้สารอาหาร
Nutrient partitioning

  ในแต่วันสารอาหารที่ได้รับเข้าไปนั้นจะถูกย่อย ดูดซึม หลังจากนั้นร่างกายจะมีการจัดสรรสารอาหาร และพลังงานดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ในอวัยวะต่างๆ (food) หรือเก็บสะสมเพื่อเป็นพลังงานสะสม (Body reserve) ซึ่งการจัดการนั้นก็ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่ได้รับ ชนิดของสารอาหาร และการใช้พลังงานในช่วงนั้น ดังเช่น ถ้าเป็นแม่กระต่ายท้องว่าง (ไม่มีลูก) ย่อมใช้พลังงานน้อยกว่าแม่กระต่ายที่ต้องให้นมลูก

ร่างกายจะจัดสรรพลังงานในข้างต้นให้อวัยวะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตก่อน (Vital organ) ซึ่งประกอบไปด้วย สมอง หัวใจ ปอด ไต ตับ ตับอ่อน และม้าม เนื่องจากถ้าอวัยวะดังกล่าวไม่มีพลังงานเพียงพอย่อมส่งผลกระทลต่อร่างกายอย่างรุนแรงอย่างแน่นอน หลังจากอวัยวะดังกล่าวได้รับพลังงานร่ายกายก็จะจัดสรรไปให้ส่วนอื่น คือ กระดูก กล้ามเนื้อ เมื่อส่วนนี้พอเพียงก็จะจัดสรรไปให้ในอวัยวะที่เกี่ยวกับผลผลิตดังเช่น น้ำนม อวัยวะสืบพันธุ์เพื่อให้ร่างกายสัตว์สมบูรณ์พันธุ์ และพร้อมผสมอีกครั้ง เมื่อมีพลังงานเหลือจากนี้ก็จะมีการเก็บสะสมในรูปของแป้ง (Glycogen) จากนั้นก็จะเก็บสะสมในรูปของไขมัน (Fat) ดังแสดงในรูปที่


ภาวะสมดุลพลังงานในสัตว์ประกอบไปด้วย 2 ภาวะ คือ ภาวะที่มีการใช้พลังงานมากกว่าพลังงานที่ได้รับ เรียกว่า ภาวะขาดดุลพลังงาน (Negative energy balance) และภาวะที่มีการใช้พลังงานน้อยกว่าพลังงานที่ได้รับ เรียกว่า ภาวะได้ดุลพลังงาน (Positive energy balance) การที่สัตว์อยู่ในภาวะขาดดุลพลังงานไม่ได้หมายความว่าการจัดการเราไม่ดี แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงต่อความต้องการพลังงานนั่นเกิดขึ้นจากระยะของระบบสืบพันธุ์ที่ใช้พลังงานแตกต่างกัน (รูปที่ 2) แต่เราต้องจัดการให้กระต่ายกลับสู่ภาวะสมดุลพลังงานให้เร็วที่สุดนั่นเอง ช่วงหลักๆสองช่วงที่กระต่ายจะอยู่ในภาวะขาดดุลพลังงาน ช่วงให้นม และช่วงท้องระยะท้าย เนื่องจากช่วงให้นมกระต่ายต้องเสียพลังงานไปกับการสร้างนม สำหรับช่วงท้อง ซึ่งมีฮอร์โมนมากมายที่ทำให้ความอยากอาหารลดลง ร่วมทั้งเมื่อกระต่ายพยายามกินมากขึ้นเพื่อทดแทนพลังงานที่สูญเสียแต่กลับโดยลูกในท้องเบียดทางเดินอาหารทำให้รับอาหารในปริมาณที่น้อยลง ซึ่งจะส่งผลมากในช่วงท้องระยะท้ายซึ่งลูกมีขนาดใหญ่ และต้องใช้พลังงานมาก คำถามเมื่อกินไม่ได้แต่ต้องการพลังงาน แม่กระต่ายจะนำพลังงานตรงไหนมาใช้เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ คำตอบก็คือนำมาจากพลังงานสะสมไม่ว่าจะอยู่ในรูปของไกลโคเจน หรือไขมัน ดังนั้นการมีพลังงานสะสมที่เพียงพอ ความสามารถเคลื่อนย้าย และนำพลังงานดังกล่าวมานำมาใช้ได้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้แม่ไม่ป่วย หรือตาย และยังสามารถกลับมาผสมได้อีกครั้ง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวจะพบในแม่ที่สุขภาพที่ดี และมีพลังงานสะสมเพียงพอเท่านั้น


 เป็นเรื่องที่โชคดีของกระต่ายสำหรับสรีรวิทยาที่มีความแตกต่างกับสัตว์ชนิดอื่น ทำให้ปัญหาดังกล่าวพบได้น้อยมาก หรือยากที่จะเกิดขึ้น ประการแรกคือ วันที่ผลิตนมในปริมาณมากที่สุดคือ ช่วงกลางของระยะให้นม ซึ่งต่างจากโคที่จะให้นมสูงสุดในช่วงต้นของระยะการให้นม ความแตกต่างนี้ทำให้แม่กระต่ายไม่เสียพลังงานไปกับการสร้างนมมากในช่วงแรก ทำให้ร่างกายสามารถกลับมาสู่ภาวะสมดุลพลังงานได้รวดเร็วกว่า โดยทั่วไปแล้วกระต่ายที่สมบูรณ์จะสามารถทำให้คะแนนร่างกายกลับมาสู่ปกติเพียงเวลา 10 วันหลังคลอดเท่านั้น ซึ่งก็ส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์กลับมากทำงานอีกครั้ง ประการที่สอง ระยะเวลาเดินทางของอาหารจากปากสู่ทวาร (Gut retention time) สั้นเพียง 4-5 ชั่วโมง การที่ระยะดังกล่าวสั้นก็หมายความว่าการเบียดของลูกไม่มีผลมาก อีกทั้งกระต่ายมีกระเพาะที่เล็ก และมีพฤติกรรมกินอาหารหลายมื้อ ทำให้เป็นการกินหลายๆครั้ง ครั้งละน้อยๆ ก็ทำให้ทางเดินอาหารที่ถูกเบียดไม่เต็มไปด้วยอาหารในปริมาณมาก และประการสุดท้าย กระต่ายไม่จำเป็นต้องแยกลูกออกก็สามารถกลับรอบเป็นสัดได้ ซึ่งต่างจากสุกรคือ ถ้าไม่แยกลูกออกแม่ก็จะไม่กลับสู่วงรอบการเป็นสัด จากสาเหตุดังกล่าวทำให้เราสามารถตอบคำถามอีกข้อที่ว่าทำไมกระต่ายถึงกลับมาผสมได้เร็ว (Short back breed) นั่นเอง      

    เพื่อให้มีพลังงานสะสมเพียงพอต่อการนำมาใช้ในช่วงดังกล่าว ในแม่ที่มีพลังงานน้อยเกินไปย่อมส่งผลเสียอย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกันในกระต่ายที่มีพลังงานสะสมมาก หรือกระต่ายที่อ้วนก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากความสามารถในการเคลื่อนย้ายไขมันในสัตว์ที่อ้วนเพื่อมาสร้างเป็นพลังงานจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าสัตว์ที่มีสัดส่วนร่างกายเหมาะสม ดังการทดลองที่ติดตามแม่กระต่ายที่มีคะแนนร่างกายที่แตกต่างกันในวันคลอด (เรื่องของคะแนนร่างกายจะกล่าวโดยละเอียดในบทความ คะแนนร่างกายสำคัญอย่างไร) พบว่ากระต่ายที่ผอม หรืออ้วนมากเกินไปส่งผลต่ออัตราการคัดทิ้งมีมากกว่ากลุ่มแม่ที่มีคะแนนร่างกายเหมาะสม (รูปที่ 3) แต่อย่างไรก็ตามกระต่ายผอมย่อมแย่กว่ากระต่ายอ้วนอย่างชัดเจน



การผสมทุกครั้งควรให้แม่มีคะแนนร่างกายที่เหมาะสม ต้องเข้าใจก่อนว่าคะแนนร่างกายกับน้ำหนักตัวไม่ใช่เรื่องเดียวกัน น้ำหนักใช้บอกเมื่อต้องการเทียบกับกระต่ายตัวอื่นหมายความว่า กระต่ายตัวนี้หนักกว่าอีกตัวหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่ากระต่ายตัวนั้นอ้วนหรือผอม สิ่งที่บอกความอ้วนผอมคือ คะแนนร่างกาย ซึ่งก็จะสื่อไปถึงปริมาณของพลังงานสะสมในร่างกาย อาจยกตัวอย่างได้ว่ากระต่ายที่น้ำหนักมากอาจจะผอม หรือกระต่ายที่น้ำหนักน้อยอาจจะอ้วนก็ได้ การที่ให้วันผสมต้องให้แม่มีคะแนนร่างกายเหมาะสมเนื่องจากให้ผลผลิตที่ดีกว่า รวมทั้งอัตราการคัดทิ้งที่ลดลงซึ่งทำให้ใช้แม่ได้นานขึ้น (ตารางที่ 1) ดังนั้นเมื่อจะผสมแม่ต้อง มีคะแนนร่างกายเหมาะสม น้ำหนัก และอายุถึงเกณฑ์เสมอ อย่างไรก็ตามการคัดเลือกสายพันธุ์สามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้กระต่ายสามารถเก็บสะสมพลังงานได้ดีกว่า ดังที่ได้แสดงในตารางที่ 1 ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพการผลิต และความสามารถในการเก็บสะสมพลังงานได้เร็วและดีกว่า เมื่อเราคัดเลือกแม่ด้วยดัชนีน้ำหนักอย่านมไปเรื่อยๆ โดยในตารางที่ 1 ได้เปรียบเทียบระหว่างรุ่นที่ 15x16 แต่เมื่อเราพัฒนาไปเรื่อยๆจนเป็นรุ่นที่ 26x29 คุณภาพการผลิตก็ดีขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ รวมทั้งสุขภาพที่ดีขึ้นจากอัตราการคัดทิ้งที่ลดลงอีกด้วย

ตารางที่ 1 แสดงประสิทธิภาพการผลิตจากการคัดเลือกแม่ทดแทนจากน้ำหนักเมื่ออย่านมโดยเปรียบเทียบระหว่างแม่ที่ได้จากการผสมรุ่นที่ 15x16 กับแม่ที่ได้จากการผสมรุ่น 26x29 
รุ่นที่ผสม
รุ่น 15 ผสมกับรุ่น 16
รุ่น 26 ผสมกับรุ่น 29
ความหนาของไขมันบริเวณไตเมื่ออายุ 3 เดือน (มม)
8.06±0.14
8.36±0.15
จำนวนลูกต่อคอกในคอกแรก
8.86±0.52
10.76±0.53
จำนวนลูกเฉลี่ยต่อคอกในคอกที่ 2-5
10.30±0.44
11.39±0.45
ร้อยละอัตราคัดทิ้งต่อปี*
100
64
* อัตราคัดทิ้ง = ร้อยละของแม่กระต่ายที่ต้องคัดทิ้งด้วยสาเหตุต่างๆเมื่อเป็นลำดับท้องที่ 5


  

3.
การคัดเลือกแม่สาวทดแทนเพื่อพัฒนาพันธุ์
Replacement doe selection for genetic improvement

การคัดเลือกจากค่าดัชนีการผลิตแล้วคัดเลือกมาใช้เป็นแม่ทดแทนเพื่อพัฒนาพันธุกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในปศุสัตว์หลายชนิดพบว่าการคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อลักษณะที่พึ่งประสงค์เป็นเวลานานได้ส่งผลเสียด้านสุขภาพออกมา แต่สำหรับในกระต่ายยังไม่พบผลเสียดังกล่าว อย่างไรก็ตามเราก็ควรพัฒนาให้ได้ทั้งในส่วนของผลผลิตที่ดี และสุขภาพที่ดีควบคู่กับไปด้วย อย่างที่ได้กล่าวไปหลังจากดูประวัติพ่อ และแม่ที่ดีแล้ว ผมจะกล่าวถึงดัชนีที่ใช้คัดเลือกลูกในคอกว่าจะนำลูกตัวไหนมาเป็นแม่ทดแทน โดยมีหลักการดังนี้คือ น้ำหนักแรกเกิด อัตราการโต น้ำหนักในวันอย่านม และสุดท้ายคือดัชนีที่เลือกจากแม่คือ คัดเลือกลูกที่มาจากแม่ที่อยู่ในชุดผสมได้นานมาเป็นแม่ทดแทน

   3.1 น้ำหนักแรกเกิด (Birth weight) เป็นอย่างชัดเจนสัตว์ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในช่วงแรกเกิดจะส่งผลเสียต่อศักยภาพของระบบสืบพันธุ์ในวัยเจริญพันธุ์ในอนาคต ดัชนีหนึ่งที่บ่งบอกถือภาวะที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในช่วงแรกเกิดนั่นคือ น้ำหนักแรกเกิด (รูปที่ 4) ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักแรกเกิดต่อจำนวนลูกต่อคอกไปในทางบวกอย่างชัดเจน โดยน้ำหนักแรกคลอดของลูกกระต่ายที่มากก็ส่งผลให้ปริมาณลูกต่อคอกที่มากขึ้นเมื่อกระต่ายดังกล่าวเข้าสู่ชุดผสม อีกทั้งปริมาณไขมันที่สะสมซึ่งสื่อถึงพลังงานสะสมซึ่งมีความสำคัญอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ดังรูปที่ 4 พบว่าแม่กระต่ายที่น้ำหนักตัวมากในวันเกิดก็จะมีไขมันบริเวณไตซึ่งสื่อถึงพลังงานสะสมที่ดีในปริมาณมากกว่ากระต่ายที่มีน้ำหนักน้อย 

การศึกษาในระยะยาวจำนวน 6 ท้อง ก็ได้ผลการทดลองไปในทางเดียวกันคือ น้ำหนักแรกเกิดของแม่ทดแทนที่มากจะมีปริมาณลูกต่อคอกมากกว่าแม่ที่มีน้ำหนักน้อยประมาณร้อยละ 12.4 ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวก็เป็นเช่นเดียวกับพ่อพันธุ์ โดยพ่อพันธุ์ที่มีน้ำหนักน้อยในช่วงแรกเกิดก็จะมีปริมาณน้ำเชื้อต่อครั้งน้อย และมีความผิดปกติของเซลล์อสุจิมากกว่ากระต่ายที่มีน้ำหนักแรกเกิดมาก

3.2 การคัดเลือกดัวยอัตราการโต (Selection by growth rate) ดัชนีที่ใช้คือ อัตราแลกเนื้อ (Feed converstion ratio: FCR) โดยเก็บข้อมูลของลูกหลังหย่านมไปจนถึงประมาณ 2 เดือน จากนั้นก็คำนวณค่าอัตราแลกเนื้อจากนั้นก็เลือกลูกที่มีอัตราแลกเนื้อที่ต่ำมาเป็นแม่ทดแทน สาเหตุที่ใช้ดัชนีนี้เนื่องจากเมื่อเราสามารถผลิตลูกกระต่ายที่มีอัตราแลกเนื้อต่ำ ก็ทำให้อาหารน้อยแต่ได้เนื้อปริมาณมากขึ้นทำให้ประหยัดค่าอาหารซึ่งเป็นถือว่ามีค่าใช้จ่ายมากถึงร้อยละ 40 อย่างไรก็ตามแม่ดังกล่าวกลับมีระยะเวลาที่สามารถอยู่ในชุดผสมน้อยลง หรือหมายความว่าสุขภาพแย่จนต้องคัดทิ้ง ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็พบในสัตว์ชนิดอื่นเช่นเดียวกัน มากไปกว่านั้นพ่อพันธุ์ที่คัดเลือกจากประสิทธิภาพการเจริญเติบโตที่สูง แต่กลับมีอสุจิที่มีลักษณะผิดปกติมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลต่ออัตราการผสมติดที่ลดต่ำลงนั่นเอง และการเก็บค่าดัชนีดังกล่าวต้องเก็บกระต่ายต่อตัว ซึ่งเราต้องทราบว่ากระต่ายแต่ละตัวกินอาหารต่อตัวต่อหนึ่งช่วงเวลาเท่าไหร่ รวมทั้งต้องทราบถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวต่อตัวด้วย ทำให้ไม่สะดวกต่อการเก็บข้อมูล ดัชนีนี้จึงไม่ค่อยนิยมใช้    

3.3 น้ำหนักตอนอย่านม (Selection by weaning weight) จากการคัดเลือกด้วยน้ำหนักอย่านมเป็นระยะเวลา 12 รุ่น พบว่าแม่ที่น้ำหนักอย่านมมากกว่าสามารถให้จำนวนลูกต่อคอกที่มากกว่าประมาณ 1.1 ตัว มีปริมาณน้ำนมมากขึ้น อัตราการกินต่อวันที่มากขึ้น มากไปกว่านั้นอัตราการตายหลังอย่านมในลูกซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการผลิตกระต่ายนั้นลดลงอย่างชัดเจน อีกทั้งในกลุ่มที่คัดเลือกด้วยน้ำหนักอย่านมที่มากกว่าจะมีความหนาของไขมันที่ไตเมื่อ 10 วันหลังผสมที่มากกว่า ซึ่งก็สื่อถึงสมดุลพลังงานที่สามารกลับมาสู่ภาวะสมดุลพลังงานได้เร็วกว่าอีกกลุ่มหนึ่งนั่นเอง เมื่อทำการศึกษาระยะยาวที่ 20 รุ่น ก็มีการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นโดยอัตราการกินต่อวัน และปริมาณน้ำนมที่ผลิตต่อวันมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้น้ำหนักหย่านม และอัตรารอดตายของลูกที่ดียิ่งขึ้นอีก ดังนั้นการคัดเลือกด้วยน้ำหนักตอนอย่านมช่วงส่งเสริมให้กระต่ายกลับมาสู่ภาวะสมดุลพลังงานได้เร็ว ทำให้อัตราการผสมติดที่ดี และให้นมมากขึ้นก็ทำให้ได้ลูกกระต่ายมีศักยภาพที่ดีกว่านั่นเอง

   3.4 คัดเลือกลูกที่มาจากแม่ที่อยู่ในชุดผสมได้นานมาเป็นแม่ทดแทน (Selection by longevity in doe) คือ ความสามารถที่แม่พันธุ์จะอยู่ในชุดขุนโดยไม่ถูกคัดทิ้งหรือตาย โดยสาเหตุของการคัดทิ้งก็คือ ป่วย ผสมไม่ติด และผลผลิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ อย่างที่ได้กล่าวไปเมื่อเราคัดเลือกให้กระต่ายมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงไปเรื่อยๆ จะสวนทางกับสุขภาพ ทำให้อัตราการทดแทนค่อนข้างสูง ทำให้สูญเสียไปกับการจัดการที่มากขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพรวมก็จะน้อยลงเนื่องจากลำดับท้องหลังจาก 3 ขึ้นไปจะให้ปริมาณ และคุณภาพของลูกที่ดีกว่าในช่วงท้องแรก อีกทั้งเป็นการรับความเสี่ยงที่จะนำแม่ใหม่ในปริมาณที่มากขึ้นอีก ดังนั้นระยะเวลาที่สามารถอยู่ในชุดผสม กับคุณภาพการผลิตจึงเป็นสองสิ่งที่คาดหวังในการพัฒนาสายพันธุ์ ได้มีการทดลองโดยเปรียบเทียบโดยใช้หลักการต่างกันคือ เลือกลูกที่มาจากแม่ทดแทนที่อยู่ได้นานโดยใช้รุ่นที่ 25 (ผมของเรียกว่ากลุ่มที่ 1) กับเลือกลูกที่มีน้ำหนักหย่านมสูงใช้รุ่นที่ 31 (ผมของเรียกว่ากลุ่มที่ 2 ได้ผลการทดลองดังรูปที่ 5 และ 6 โดยพบว่าในช่วงลำดับท้องแรกถึงท้องที่ 3 จำนวนลูกอย่านมต่อคอกนั้นไม่มีผลแตกต่างกันระหว่างสองกลุ่ม แต่เมื่อหลังจากลำดับท้องที่ 4 เป็นต้นไป กระต่ายในกลุ่มที่ 1 ให้จำนวนลูกต่อคอกมากกว่าอีกกลุ่มที่ 2 มากไปกว่านั้นน้ำหนักแม่หลังคลอด คะแนนร่างกายประเมินจากความหนาของไขมันบริเวณไต และปริมาณน้ำนมในกลุ่มที่ 1 ที่ดีกว่ากลุ่มที่ 2 รวมทั้งหลังจากศึกษาในระยะยาวประมาณ 7 รุ่น ก็พบว่าการคัดเลือกด้วยหลักการดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกระต่าย และอัตราการคัดทิ้ง


งานทดลองส่วนใหญ่จะทดลองในสภาวะปกติ หมายความว่าอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ควบคุมปัจจัยเสื่ยงไม่ว่าจะเป็นความเครียด หรือโรค เพื่อต้องการเห็นผลการทดลองที่ชัดเจน ซึ่งไม่เหมือนกับสถานการณ์จริง ทำให้มีการทดลองเปรียบเทียบเพิ่มเติมระหว่างกลุ่มที่ 1 และ2 ในข้างต้น พบว่าเมื่ออยู่ภาวะปกติกลับไม่พบความแตกต่างด้านผลผลิตอย่างชัดเจน แต่ให้ภาวะเสี่ยงด้วยการให้อาหารที่มีพลังงานต่ำ ทำพบความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังแสดงในรูปที่ 7 และ 8 โดยกระต่ายกลุ่มที่ 1 พยายามทดแทนพลังงานที่น้อยในอาหารด้วยการเพิ่มอัตราการกินที่มากขึ้น ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ไม่ได้เพิ่มอัตราการกิน ซึ่งก็ส่งผลให้พลังงานสะสมในร่างกาย และจำนวนลูกต่อคอกในกลุ่มที่ 2 ลดต่ำลงอย่างชัดเจน ระดับภูมิคุ้มกันที่ดีมีความสอดคล้องกับคะแนนร่างกายที่เหมาะสมด้วย โดยการคัดเลือกด้วยน้ำหนักหลังอย่านมมากกว่า 20 รุ่น ส่งผลให้ ปริมาณเม็ดเลือดขาวรวม และเม็ดเลือดขาวชนิดที่สร้างแอนติบอดี้ (B-lymphocyte) ลดลงที่ร้อยละ 17 และ 36 ตามลำดับ ดังนั้นการเลือกจากดัชนีที่แม่อยู่ในชุดผสมได้นาน นั้นก็ให้ผลผลิตที่ดี และสุขภาพที่ดีด้วย แต่กว่าจะทราบว่าแม่ไหนอยู่ได้นานก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะทราบข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์นั่นเอง




4.
บทสรุป และข้อเสนอแนะ
Conclusions and suggestions

          วิธีการคัดเลือกมีหลายวิธีโดยสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องพึงระลึกเสมอคือ เมื่อเราจะผสมกระต่ายต้องให้ อายุ น้ำหนัก และคะแนนร่างกายที่เหมาะสมก่อน ดังนั้นสำหรับท้องครั้งแรกก็ต้องให้ตามทั้งสามอย่าง ส่วนท้องต่อไปก็ต้องจัดการให้คะแนนร่างกายกลับมาสู่ปกติก่อนถึงจะผสม สำหรับการคัดเลือกให้ดูที่แม่ก่อนโดยใช้หลักการเลือกแม่ที่มีความสามารถอยู่ในชุดผสมได้นาน หรือสุขภาพดีนั่นเอง แต่ดัชนีดังกล่าวต้องใช้เวลา และการเก็บข้อมูล ในข้างต้นให้เลือกที่น้ำหนักอย่านมที่ดี แล้วค่อยเก็บสะสมไปเรื่อยๆครับ หวังว่าในที่สุดเราก็จะได้พัฒนาสายพันธุ์กระต่ายในฟาร์มของเราได้ โดยระหว่างนั้นอาจจะนำกระต่ายจากฟาร์มอื่นมาร่วมผสมเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ก็ได้ แต่แนะนำให้พัฒนาของฟาร์มเราด้วยเนื่องจากเราจะได้กระต่ายที่เหมาะกับสภาพอากาศ อาหาร และการจัดการของเราเป็นพื้นฐาน ทำให้กระต่ายเราแข็งแรงเป็นอย่างแรก จากนั้นค่อยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น