หัวข้อ

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นมทดแทนในกระต่าย

นมทดแทนในกระต่าย
Mlik replacement for rabbits
      
 หลังจากที่ผมได้รับงานจากอาจารย์ให้ศึกษาเกี่ยวกับ น้ำนมของกระต่าย เนื่องจากคาดว่าการทดลองที่ให้พืชสมุนไพรในกระต่ายจะมีผลต่อ คุณภาพนม และภูมิคุ้มกันในลูกกระต่าย ดังนั้นผมจึงคิดได้ถึงบทความที่ผมเคยเขียนไปในหัวข้อ แม่กระต่ายไม่เลี้ยงลูกจากบทความดังกล่าวการช่วยเหลือแบ่งออกเป็นสามอย่างคือ ฝากเลี้ยง จับแม่ให้นม และให้นมสังเคราะห์ โดยสองวิธีการข้างต้นนั้นให้ผลที่น่าพอใจ และมีอัตราการประสบความสำเร็จสูงมาก ส่วนการใช้นมสังเคราะห์ไม่ได้เขียนในรายละเอียดในบทความดังกล่าว หลังจากที่ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจึงพยายามเขียนหลักการ และแนวทางการใช้นมทดแทนในกระต่าย บทความนี้ได้เขียนขึ้นจากการรวบรวมบทความวิชาการ ประสบการณ์ สัมภาษณ์นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าว และความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผมหวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ไปไม่มากก็น้อย ถ้ามีข้อซักถามหรือข้อเสนอแนะประการใดสามารถติดต่อมาได้ที่ attawitthai@gmail.com สำหรับข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

น.สพ.อรรถวิทย์ โกวิทวที
(นิสิตปริญญาเอกสาขาการเพาะพันธุ์กระต่าย มหาวิทยาลัยตูริน ประเทศอิตาลี)
________________________________________________________________________________

          
         ในกรณีที่แม่ไม่เลี้ยงลูก มีนม แม่ทำร้ายลูก หรือมีแม่ตัวอื่นให้ฝากเลี้ยง วิธีการให้นมสังเคราะห์แทบไม่มีความจำเป็นเลยเนื่องจากวิธีการดังกล่าวมีอัตราการรอดที่ต่ำ เสียเวลาในการจัดการ และหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ในกรณีที่แม่ไม่มีนม หรือไม่มีแม่ฝากเลี้ยง การให้นมทดแทนก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกกระต่ายรอดชีวิตได้ ผมจะอธิบายถึงหลักการควบคู่กับการเสนอแนะวิธีการช่วยเหลือ และในตอนที่สามจะสรุปเนื้อหาทั้งหมดให้ โดยบทความจะแบ่งออกเป็นสามตอนดังรูปที่ 1 ครับ


1.
นมทดแทน
Milk replacement

          การคัดเลือกชนิดของนม หรือนมสังเคราะห์ที่จะมาใช้ทดแทน ควรคัดเลือกให้ใกล้เคียงกับพฤติกรรม และองค์ประกอบในธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบในธรรมชาติของน้ำนมกระต่ายจึงถือว่ามีความสำคัญเป็นเบื้องต้น และใช้เป็นหลักการให้สามารถเลือกนมทดแทนที่ดีที่สุด ทำให้อัตราการรอดของลูกกระต่ายมีมากขึ้น

           นมน้ำเหลือง (Colostrum) เป็นนมมีความสำคัญเป็นอย่างมากในสัตว์แรกเกิดซึ่งแม่กระต่ายจะสามารถผลิตเพียง 1 วันหลังคลอดเท่านั้น นมน้ำเหลืองมีหน้าที่สำคัญในสองด้านคือ ด้านคุณค่าทางโภชนะที่มีมากกว่านมธรรมดา และด้านการส่งผ่านภูมิคุ้มกันจากแม่ (Passive immunity) มีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อในขณะที่ลูกกระต่ายมีอายุน้อย และไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองได้ (Active immunity) ในมุมมองของผม ผมว่าปัญหาการขาดนมน้ำเหลืองในกระต่ายไม่ใช่เรื่องสำคัญมากเหมือนในสัตว์ชนิดอื่น ในสถานะการปกติที่แม่และลูกกระต่ายอยู่ในกรงเดียวกัน หลังจากที่แม่กระต่ายให้กำเนิดลูก ลูกจะดื่มนมแม่ทันที โดยปกติแล้วในวันคลอดเราไม่ได้นั่งคอย หรือดูทุกชั่วโมง ทำให้เราไม่ทราบว่าลูกกระต่ายจะออกมาเวลาไหน กว่าเราจะทราบว่ากระต่ายออกลูก ลูกกระต่ายก็ได้รับนมน้ำเหลืองเรียบร้อยแล้ว

   สำหรับด้านคุณค่าทางอาหารของนมน้ำเหลืองมีองค์ประกอบใกล้เคียงกับนมปกติ อย่างไรก็ตามนมน้ำเหลืองมีสารอาหารมากกว่านมปกติแต่ก็มากกว่าประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น ทำให้ผมคิดว่าด้านคุณค่าทางอาหารจึงไม่มีความจำเป็นมาก สำหรับอีกด้านหนึ่งคือ ด้านของภูมิคุ้มกันซึ่งผมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกเช่นกัน เนื่องจากสิ่งสำคัญในนมน้ำเหลืองคือ ภูมิคุ้มกันที่ส่งมาจากแม่ ดังที่ได้กล่าวในข้างต้น แต่รกของกระต่ายเป็นแบบเดียวกับของคน โดยมีลักษณะแบบเลือดอาบ (Hemochorial type) ซึ่งความพิเศษของรกแบบนี้คือ ลูกจะได้รับแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันจากแม่ตั้งแต่ในท้อง ซึ่งต่างกับ โค สุกร สุนัข และแมว ที่ไม่ได้ภูมิคุ้มกันตั้งแต่ในท้องแม่เนื่องจากรกมีลักษณะคนละประเภท แต่ลูกสัตว์ในกลุ่มดังกล่าวจะได้รับภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลืองเท่านั้น ดังนั้นนมน้ำเหลืองจึงมีความสำคัญในสัตว์กลุ่มดังกล่าวเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการได้รับนมน้ำเหลืองย่อมดีกว่าไม่ได้รับอยู่แล้ว

ในภาพรวมขององค์ประกอบน้ำนมกระต่ายพบว่ามีความเข้มข้นของโปรตีน ไขมัน และพลังงานที่สูงเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น มีอัตราส่วนของแลคโตสที่ต่ำ มีการศึกษาว่าระยะเวลาของช่วงการให้นมส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบของน้ำนมกระต่ายหรือไม่ การศึกษาพบว่าระยะเวลาส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบในน้ำนมน้อยมาก ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของน้ำนมที่เราเลือกระหว่างระยะเวลาที่เปลี่ยนไป สิ่งที่ต้องเปลี่ยนก็เป็นเรื่องของปริมาณการให้นม ซึ่งจะกล่าวต่อไปในหัวข้อการจัดการ

องค์ประกอบของน้ำนมพื้นฐาน (แสดงในตารางที่ 1) จะพบว่าน้ำนมกระต่ายมีน้ำหนักแห้ง (ถ้าค่าน้ำหนักแห้งมากแสดงว่ามีน้ำหรือของเหลวเจือปนน้อย) โปรตีนรวม ไขมันรวม และพลังงานที่มีปริมาณมากเมื่อเทียบกับ โค สุกร แพะ กระบือ แมว และสุนัข ส่วนน้ำตาลแลคโตสจะมีปริมาณที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น จากการศึกษาในตารางที่ 1 ผมพยายามเปรียบกับนมสัตว์ที่สามารถจะหาในตลาดได้ ทำให้เรามองเห็นว่าองค์ประกอบของนมกระต่ายนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับนมแมวมากที่สุด ถึงพลังงานจะน้อยกว่านมสุนัขในดัชนีอื่นถือว่ายอมรับได้ อย่างที่ได้กล่าวไปแลคโตสในนมกระต่ายมีปริมาณต่ำมากซึ่งพบว่าในนมแมวมีน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามในบทสรุปผมจะเปรียบเทียบกับนมทดแทน (Milk replacer) ในสุนัข และแมวที่มีขายในตลาดครับ องค์ประกอบพื้นฐานยังไม่เพียงพอต่อวิเคราะห์จึงจำเป็นต้องดูในรายละเอียดต่อไป

ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบองค์ประกอบน้ำนมพื้นฐานในกระต่าย โค สุกร แพะ กระบือ แมว และสุนัข
น้ำหนัก
หน่วย
กระต่าย
โค
สุกร
แพะ
กระบือ
แมว
สุนัข
น้ำหนักแห้ง (DM)
g/100g
29.8
13
17.9
12.2
18.9
25.4
20.7
โปรตีนรวม (CP)
g/100g
12.3
3.5
5.1
3.1
4.5
11.1
9.5
ไขมันรวม (EE)
g/100g
12.9
4.5
6.5
3.5
8
10.9
8.3
แลคโตส (Lactose)
g/100g
1.7
4.75
5.7
4.1
5
3.4
3.7
พลังงาน (Energy)
MJ/kg
8.4
3
4.5
2.5
4.6
4.1
5.4
          
       ผมขอกล่าวถึงไขมันเป็นอันดับแรก องค์ประกอบพื้นฐานของไขมันคือ กรดไขมัน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ไขมันมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ไขมันในน้ำนมถือว่าเป็นแหล่งพลังงานหลักของลูกกระต่าย โดยกรดไขมันส่วนใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งเป็น กรดไขมันสายสั้น (Short chain fatty acid) โดยมีองค์ประกอบหลักคือ Caprilic (C8:0) และ Capric acid (C10:0) ร้อยละ 70 ในนมกระต่ายประกอบไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid: SFA) ซึ่งตรงกันข้ามกับไขมันที่พบในเนื้อกระต่ายจะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นองค์ประกอบหลัก (Unsaturated fatty acid) สำหรับกรดไขมันไม่อิ่มตัวในกระต่ายนั้นประกอบด้วย Monounsaturated fatty acid (MUFA) และ Polyunsaturated fatty acid (PUFA) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 13 และ 15 ตามลำดับ โดยปกติแล้วโอเมก้า 3 (ω-3) จะส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ตามปริมาณของโอเมก้า 3 ในน้ำนมแม่กระต่ายมีปริมาณต่ำมากโดยพบ C20:5,ω-3 (EPA) และC22:6,ω-3 (DHA) เพียงร้อยละ 0.04 และ 0.06 ตามลำดับเท่านั้น โดยลักษณะของกรดไขมันในกระต่ายนั้นมีความแตกต่างในสัตว์อื่นเป็นอย่างมาก (ตารางที่ 2) เนื่องจากสารตั้งตั้นของการสร้างกรดไขมันคือ อะซิเตท (Acetate) ซึ่งเป็นกรดไขมันระเหยสายสั้นที่สร้างจากแบคธีเรียในซีกั่มของกระต่าย โดยในสัตว์ชนิดอื่นมีสารตั้งต้นที่แตกต่างกันไป

ตารางที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบกรดไขมันในน้ำนมกระต่าย โค สุกร แพะ กระบือ และแมว
ร้อยละของกรดไขมัน
กระต่าย
โค
สุกร
แพะ
กระบือ
แมว

C4:0, C5:0, C7:0
น้อยมาก
น้อยมาก
น้อยมาก
0.88
3.72
น้อยมาก

C6:0
0.4
1.5
น้อยมาก
5.35
2.08
น้อยมาก

C8:0
26.3
0.9
น้อยมาก
5.39
1.91
น้อยมาก

C10:0
20.1
2
0.4
14.43
1.45
0.04

C12:0
2.9
2.4
0.5
5.6
1.98
0.12

C14:0
1.6
14.3
5.6
11.15
11.35
1.77

C15:0
0.8
น้อยมาก
น้อยมาก
น้อยมาก
น้อยมาก
0.24

C16:0
12.8
24.4
29.4
22.19
32.15
23.24

C17:0
0.7
น้อยมาก
น้อยมาก
0.46
0.92
0.36

C18:0
2.9
11.9
6.3
9.07
12.4
5.94

C20:0, C22:0
น้อยมาก
น้อยมาก
น้อยมาก
น้อยมาก
น้อยมาก
0.17
รวมไขมันอิ่มตัว (SFA)
70.4
60
42.2
74.52
66.96
31.88

C14:1, C17:1, C20:1
น้อยมาก
น้อยมาก
น้อยมาก
0.17
1.04
0.59

C16:1
1.5
1.7
13.7
0.69
1.53
5.47

C18:1
11.3
27.5
27.6
20.13
25.05
38.34

C20:1
น้อยมาก
น้อยมาก
0.2
น้อยมาก
น้อยมาก
0.13
รวม MUFA
12.8
30.1
41.5
21.08
27.62
44.53

C18:2
12.8
1.6
13.3
1.75
1.65
20.56

C18:3
2.5
0.71
1.4
1.3
0.69
1.21

C20:4
0.5
0.04
0.09
น้อยมาก
0.09
0.81

CLA
0.08
1.26
น้อยมาก
0.18
0.8
22.58

EPA (C20:5 omega-3)
0.04
0.01
0.16
0.13
0.09
0.17

DHA (C22:6 omega-3)
0.06
0.04
0.2
น้อยมาก
0.06
0.35
รวม PUFA
15.6
3.6
16.3
4.39
2.77
0.52

          ในส่วนต่อไปผมจะพูดถึง โปรตีน โดยส่วนย่อยของโปรตีนก็คือ กรดอะมิโน (Amino acid) นมกระต่ายมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงซึ่งเสริมสร้างเนื้อเยื่อเพื่อการเจริญเติบโต (ตารางที่ 3) โปรตีนในนมสามารถสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ caseins (มีส่วนประกอบประมาณร้อยละ 70) และ whey protein น้ำนมกระต่ายมี casein หลายชนิดโดยมีหลักๆอยู่ 5 ชนิด คือ αs1-casein, αs2-casein, α-casein, β-casein และ κ-casein โดย αs1-casein และ β-casein มีความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคธีเรียซึ่งป้องกันการติดเชื้อในลูกกระต่าย สำหรับ whey protein มีองค์ประกอบดังนี้ α-lactalbumin, tranferrin, serum albumin, whey acidic protein (WAP) และ immunoglobulins
         
ตารางที่ 3 แสดงการเปรียบเทียบกรดอะมิโนในน้ำนมกระต่าย โค สุกร แพะ และกระบือ
ร้อยละของกรดอะมิโน
กระต่าย
โค
สุกร
แพะ
กระบือ
Lysine
8.5
1
7.5
0.29
7.32
Methionine
2.2
9
1.7
0.08
4
Cysteine
น้อยมาก
8
1.5
0.05
0.7
Histidine
3.8
2
2.4
0.09
2.46
Phenylalanine
4.1
1
3.9
0.16
4.32
Tyrosine
4.4
9
4.2
0.18
3.96
Threonine
5.7
3
3.9
0.16
4.16
Isoleucine
3.9
11
3.8
0.21
4.9
Leucine
10.4
6
8.8
0.31
8.54
Valine
6.95
6
4.7
0.24
5.78
Thyptophan
2.15
น้อยมาก
1.4
0.04
น้อยมาก
Arginine
5.6
4
5.2
0.12
2.6
Proline
3.1
8.4
11.3
0.37
10.2
Glycine
2.6
5.1
2.8
0.05
1.74
Glutamic acid
18.85
6.5
21.6
0.63
22.3
Aspartic acid
6.05
3.5
7.9
0.21
7.14
Serine
5.85
3.3
5.2
0.18
5.4
Alanine
6.7
5
3.2
0.12
2.9

          สำหรับแร่ธาตุในนมนั้น ได้รับผลกระทบจากระยะการให้นมที่แตกต่างกัน ในภาพรวมแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นทำให้พบว่า นมกระต่ายมีความเข้มข้นของ แคลเซียม โซเดียม และโพแตสเซียม มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น (ตารางที่ 4) แลคโตส และโซเดียมในน้ำนมมีผลกระทบต่อแรงดันออสโมซิส (Osmotic pressure) แต่ในนมกระต่ายมีแลคโตสมีองค์ประกอบน้อยดังนั้นเพื่อรักษาให้แรงดันออสโมซิสอยู่ในระดับที่พอเหมาะจึงมีระดับโซเดียมที่สูง เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นก็พบว่านมกระต่ายมีโซเดียมเป็นองค์ประกอบสูงมาก  ในส่วนของวิตามินพบว่ามีใกล้เคียงกับสัตว์ชนิดอื่น แต่วิตามินเอมีความสำคัญมาก และพบในปริมาณมากในนมน้ำเหลือง เนื่องจากลูกกระต่ายต้องใช้วิตามินเอในการพัฒนาอวัยวะที่เกี่ยวกับการมองเห็น

ตารางที่ 4 แสดงการเปรียบเทียบแร่ธาตุในน้ำนมกระต่าย โค และสุกร
แร่ธาตุ
กระต่าย
โค
สุกร
โซเดียม
0.96
0.45
0.5
โพแทสเซียม
1.86
1.5
0.84
แคลเซียม
4.61
1.2
2.2
แมกนีเซียม
0.27
0.12
-
ฟอสฟอรัส
2.78
1.9
1.6
คลอไรด์
0.66
1.1
-

          สุดท้ายองค์ประกอบที่สำคัญในน้ำนมอีกอย่างหนึ่งคือ Milk oil ซึ่งคือ กรดไขมันสายสั้น (C8:0 และ C10:0) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายแบคธีเรียซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่าในน้ำนมกระต่ายมีกรดไขมันชนิดนี้ในปริมาณมาก มากไปกว่านั้นในน้ำนมกระต่ายมี αs1-casein และ β-casein ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคธีเรียเช่นกัน ดังนั้นในช่วงที่ลูกกระต่ายดื่มนมจากการวิจัยพบว่า ในระบบทางเดินอาหารของกระต่ายจะอยู่ในภาวะปลอดเชื้อ หลังจากระยะเวลาผ่านไปแม่กระต่ายจะผลิตน้ำนมลดลง ดังนั้นปริมาณของน้ำนมที่ลูกกระต่ายได้รับก็น้อยลงด้วย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อก็ลดลง และเป็นการให้โอกาสที่จะให้จุลชีพที่ดีได้เข้าไปในระบบทางเดินอาหาร ในขณะเดียวกันลูกกระต่ายก็เริ่มกินอาหารเม็ด ทำให้การได้รับอาหารที่เหมาะสมก็จะส่งเสริมให้เชื้อที่เหมาะสมเจริญเติบโตในอัตราที่พอเหมาะ ก็จะทำให้กระต่ายจุลชีพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตต่อไป อย่างไรก็ตามช่องว่างตรงนี้ถ้าเชื้อที่เข้ามาเป็นเชื้อก่อโรคกระต่ายก็จะป่วยและเสียชีวิตได้ โดยรายละเอียดเรื่องจุลชีพผมจะกล่าวต่อไปในหัวข้อการจัดการครับ

         จากข้อมูลในข้างต้นผู้อ่านคงรู้สึกว่าไม่มีนมสัตว์ชนิดไหนแทนสัตว์ชนิดไหนได้ เนื่องจากสัตว์แต่ชนิดมีความจำเพาะในด้านต่างๆ ไม่ว่าด้านอาหาร พฤติกรรม การย่อยอาหาร เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้องค์ประกอบของน้ำนมมีความแตกต่างกัน โดยข้อเสนอแนะผมจะนำเสนอในตอนสุดท้ายของบทความนี้ครับ

2.
การจัดการ
Management techniques

ปริมาณ ระยะเวลาการให้นม และอาหาร สำหรับเรื่องแรกผมขอกล่าวถึงปริมาณการให้ก่อนครับ ในส่วนของปริมาณการให้นมเพื่อง่ายต่อความเข้าใจผมขอแสดงรูปที่ 2 ให้ดูนะครับ โดยการคำนวณผมประมาณให้ดังตารางด้านข้างรูปที่ 2 ส่วนระยะเวลาการให้ผมแนะนำให้สองครั้งเวลาเช้าและเย็น ตามธรรมชาติแล้วกระต่ายจะให้นมลูกเพียงวันละครั้ง หรือสองครั้ง โดยให้ครั้งละประมาณ 3-5 นาทีเท่านั้น โดยเราจะเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว โดยการป้อนนมนั้นปกติแล้วจะใช้กระบอกฉีดยาป้อนนมให้ลูกกระต่าย โดยการให้ต้องค่อยๆให้ลูกกระต่ายให้ลูกกระต่ายดื่มเอง ไม่ใช้ฉีดเข้าไปในปากเหมือนการให้ยา เนื่องจากปริมาณการให้นมดังที่ได้แนะนำในรูปที่ 2 เป็นการประมาณการเท่านั้น อีกทั้งเป็นการคำนวณมากจากกระต่ายเนื้อซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่ากระต่ายเลี้ยง ดังนั้นควรสังเกตที่ลูกกระต่ายแต่ละตัวเป็นหลัก และสามารถดู milk line เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย เนื่องจากอัตราที่ผมเอามาให้เป็นของกระต่ายเนื้อซึ่งน้ำหนักตัวแรกเกิดค่อนข้างมากกว่ากระต่ายไทย อีกอย่างถ้าลูกกระต่ายไม่กินเองแล้วก็ให้เปลี่ยนไปให้ตัวอื่นแล้วค่อยวนกลับมาอีกทีก็ได้ แต่ถ้าพบเห็น milk line แล้วท้องบวมผมว่าก็พอแล้วครับ อย่างที่ได้กล่าวไปว่าเราต้องป้องกันแบคธีเรียก่อโรคเข้าไปปนเปื้อนในระบบทางเดินอาหาร อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้นมลูกกระต่ายควรรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี โดยสามารถน้ำไปลวกน้ำร้อนก่อนและหลังใช้ ตากแดด และเก็บในที่แห้ง ส่วนอาหารให้เราวางไว้ครับ โดยให้น้อยๆก่อนโดยให้กระต่ายกินเองโดยดูจากรูปที่ 2 โดยปกติผมนำอาหารและน้ำสะอาดเข้าช่วงอายุ 18 วัน โดยสามารถเสริมหญ้าแห้ง หรือหญ้าที่ล้างแล้วได้เนื่องจากแบคธีเรียที่ย่อยพืชอยู่ในระดับที่มากเพียงพอแล้วในช่วงอายุ 14-21 วัน ซึ่งผมจะกล่าวต่อไปในเรื่องของจุลชีพในระบบทางเดินอาหารของกระต่ายครับ โดยตามความจริงแล้วลูกกระต่ายสามารถหย่านมได้ตั้งแต่ 28 วัน แต่ที่ผมแนะนำคือประมาณ 35 วันเนื่องจากส่งผลให้ลูกกระต่ายมีโอกาสรอดตายมาที่สุดครับ


การดูแลลูกกระต่าย การดูแลลูกกระต่ายผมของแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกกระต่าย และเรื่องของการขับถ่ายครับ เรื่องสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยสองเรื่องคือ เรื่องของความสะอาด และความอบอุ่น เรื่องความสะอาดเป็นเรื่องที่สำคัญมากเนื่องจากอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น กระต่ายจะมีช่วงเสี่ยงต่อการติดเชื้ออยู่ในช่วง 18 วันหลังคลอดเนื่องจากต้องรับเชื้อที่ดีจากแม่เข้าไปเพื่อจะได้มีความสามารถย่อยอาหารเยื่อใยได้ ดังนั้นความสะอาดของสถานที่ และอุปกรณ์ที่ใช้ย่อมต้องมีความสะอาดที่ดี อย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีแม่กระต่ายจะดึงขนตัวเองมาให้ลูกเพื่อให้ลูกพันตัวเพื่อให้มีความอบอุ่น ดังนั้นเราสามารถดึงขนของแม่มาให้ลูกก็ได้ ถ้าไม่มีแม่ก็ใช้สำลีแห้งสะอาดมาฉีกเป็นฝอยๆแล้วให้ลูกได้เช่นกัน โดยเราสามารถเปลี่ยนสำลีหรือขนแม่ได้ตามสมควรเนื่องจากลูกกระต่ายจะขับถ่ายอาจทำให้ที่เลี้ยงไม่สะอาด ส่วนเรื่องการขับถ่ายเนื่องจากในธรรมชาติแม่กระต่ายจะพลิกตัวลูก และการเคลื่อนไหวของลูกจะทำให้เกิดการขับถ่ายออกมา ในกรณีที่แยกเลี้ยงเราสามารถช่วยโดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นมาเช็ดเบาๆที่รูทวาร รวมทั้งการพลักตัวลูกไปมาก็จะสามารถพบอุจจาระเป็นเม็ดสีดำกลมขนาดเท่าหัวเข็มหมุดออกมาครับ

จุลชีพในกระต่าย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก และมีความสำคัญต่อการย่อยอาหาร และสุขภาพกระต่าย รวมทั้งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้กระต่ายกลับมาปกติหลังจากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งผมหวังว่าจะได้เขียนในรายละเอียดในบทความต่อไป ส่วนในบทความนี้ผมจะกล่าวเพื่อช่วยเหลือลูกกระต่ายครับ เนื่องจากปกติแล้วลูกกระต่ายจะกินอุจจาระกลางคืน (Soft feces) ของแม่เพื่อสร้างจุลชีพที่เหมาะสมออกมา ดังนั้นเมื่อเราไม่มีแม่ เราก็ต้องหาอุจจาระดังกล่าวมาจากแม่กระต่ายตัวอื่น ซึ่งเราสามารถขอจากคนรู้จัก โรงพยาบาล แต่ต้องแน่ใจว่ากระต่ายที่ให้ต้องเป็นกระต่ายที่แข็งแรงไม่ป่วย โดยให้นำอุจจาระดังกล่าวมาผสมกับนมให้ไม่ข้นมากเกินไป แล้วป้อนให้ลูกกระต่าย โดยให้ประมาณ 1-2 เม็ดเล็กของอุจจาระกลางคืนผสมกับนมที่จะให้ โดยเริ่มป้อนให้วันที่ 10 หลังคลอดไปเรื่อยๆจนถึงประมาณวันที่ 20 หลังคลอด โดยสังเกตว่ากระต่ายสามารถกินอาหารเม็ดได้หรือไม่ และไม่มีปัญหาเรื่องท้องเสีย โดยการให้จะมีประโยชน์น้อยลงเมื่อกระต่ายอายุ 1 เดือนขึ้นไป เนื่องจากระดับความเป็นกรดจะมากขึ้นเมื่อกระต่ายอายุมากกว่า 1 เดือน ทำให้จุลชีพสามารถผ่านไปได้น้อยลง ดังที่ได้เคยกล่าวไปในบทความ แม่กระต่ายไม่เลี้ยงลูก
         
3.
บทสรุป และข้อเสนอแนะ
Conclusions and suggestions

          อยากข้อมูลที่ได้กล่าวไปคงเข้าใจแล้วว่าไม่มีน้ำสัตว์ชนิดไหนมาทดแทนกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราอยู่ในภาวะที่จำเป็นจริงๆแล้วผมแนะนำให้ใช้ นมทดแทนของแมว ที่สามารถซื้อได้ตามร้านค้า เนื่องจากคุณค่าทางโภชนาการหลักมีความใกล้เคียงมากที่สุด และมีปริมาณแลคโตสที่ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุของการท้องเสียในกระต่ายเด็ก โดยการคำนวณปริมาณให้ดูตามท้องที่ขยายออก ให้วันละสองครั้ง อีกอย่างผมอยากเสริมนมแพะเล็กน้อย ประมาณ 20% ของนมแมวที่กินต่อวัน โดยการให้ก็ผสมกับนมแมวไปเลย เนื่องจากในนมแพะมีกรดไขมันที่สามารถป้องกันจุลชีพ และมีความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบทางเดินอาหาร ดูแลความสะอาด ความอบอุ่น กระตุ้นการขับถ่ายในแต่ละวัน วางอาหารเม็ด และน้ำในภาชนะที่ลูกกระต่ายสามารถเข้าถึงได้ในวันที่ 18 หลังคลอด เสริมอุจจาระกลางคืนให้ตั้งแต่วันที่ 10 ถึง 20 วันหลังคลอด และสุดท้ายสังเกตว่าลูกกระต่ายมีอาการท้องเสียหรือไม่ และสามารถทานอาหารเม็ดได้หรือไม่ ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีเราสามารถอย่านม หรือเลิกให้นม ในช่วงตั้งแต่ 28-35 วัน หลังคลอด โดยดูจากความสามารถในการกินอาหารเม็ดนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น