หัวข้อ

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

Talk: กระต่ายคอเอียง1


Talk: กระต่ายคอเอียง ตอนที่ 1 (บทนำ สาเหตุ วงชีวิต)




             
              เรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาสำคัญในฟาร์มกระต่ายในต่างประเทศ เนื่องจากวิธีการตรวจค่อนข้างยาก การรักษาก็ยิ่งยากเช่นเดียวกัน ก่อนอื่นเมื่อกระต่ายมีอาการคอเอียง นั้นสามารถเกิดจากหลายสาเหตุโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสาเหตุดังนี้
                1. Peripheral vestibular disease คือการเกิดปัญหาที่ส่วนใน หรือส่วนนอกของหู ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีปัญหาเป็นได้จาก
                                1.1 หูชั้นใน ชั้นนอก อักเสบเรื้อรัง หรือเฉียบพลันทำให้มีการทำลายในส่วน vestibular เกิดขึ้น
                                1.2 การติดเชื้อภายนอก เช่น การติดเชื้อแบคธีเรีย, ไรหู (Psoroptes cuniculiเป็นต้น
                                1.3 การติดเชื้อย้อนจากทางเดินหายใจ
                                1.4 วัตถุแปลกปลอม
                2. Central vestibular disease คือเกิดปัญหาในส่วน vesticular เลย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีปัญหาเป็นได้จาก
                                2.1 เชื้อจากระบบทางเดินหายใจ เช่น Pasteurella sp., Bordetella sp., Staphylococcus sp.
                                2.2 แบคธีเรียทำให้เกิดอาการทางประสาท เช่น Listeria monocytogenes
                                2.3 ปรสิต
                                2.4 โปรโตซัว คือ Encephalitozoon cuniculi ซึ่งบทความทั้งหมดนี้จะกล่าวถึงเชื้อตัวนี้ครับ
                3. สาเหตุอื่นๆ ดังเช่น อุบัติเหตุ มะเร็ง เป็นต้น
                โอ๊ย อ่านแล้วปวดหัว ผมขอสรุปง่ายๆแล้วกันนะครับ เวลาผมรักษากระต่ายที่มีอาการคอเอียง สิ่งแรกที่ผมถามคือถามว่ากระต่ายประสบอุบัติเหตุหรือไม่ เพื่อดูว่ามีการกระทบกระเทือนทางระบบประสาทหรือเปล่า จากนั้นจะดูว่ากระต่ายมีไรในหู หรืออาการทางระบบหายใจหรือไม่เพราะมักจะเป็นสาเหตุที่พบบ่อยและสามารถแก้ไขได้ ถ้ากระต่ายไม่เป็นทั้งหมดโอกาสที่จะเป็นเชื้อโปรโตซัวทำให้คอเอียงก็เป็นไปได้สูง จากนั้นก็จะให้ยารักษาทันทีเนื่องจากวิธีการตรวจในปัจจุบันนั้นไม่สามารถยืนยันการมีเชื้อในกระต่ายได้ การให้ยารักษาเพื่อทดลองก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
พอดีเรื่องนี้ผมทำงานวิจัยเพื่อใช้เรียนจบเลยพอมีความรู้อยู่บ้าง โดยผมขออธิบายในส่วนของเชื้อก่อนเลยครับ Encephalitozoon cuniculi (E.cuniculi) เป็นโปรโตซัวจัดอยู่ในกลุ่ม Microsporidia อาศัยอยู่ในเซลล์แบบถาวร และสามารถสร้างสปอร์ซึ่งเป็นระยะติดต่อการติดเชื้อเป็นแบบฉวยโอกาสคือร่างกายสัตว์ต้องอ่อนแอก่อนถึงติดเชื้อได้ ทั้งในสัตว์หลายชนิดไม่ว่า สุนัข แมว โค ม้า กระต่าย เป็นต้น หรือมนุษย์ที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องคือ เป็นเอดส์ หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน แต่อย่างไรก็ตามก็มีรายงานหนึ่งกล่าวว่าพบเชื้อในปัสสาวะของคนเลี้ยงกระต่ายที่สุขภาพดีก็เป็นที่น่าสงสัยครับว่าคนปกติก็ติดได้หรือไม่ (Ozkan et al, 2011) ทางติดเชื้อหลักในกระต่ายเกิดจากการกินสปอร์ที่ปนเปื้อนอาหาร แต่อย่างไรก็ตามเชื้อสามารถติดทางการสูดดม และผ่านช่องคลอด ก็เป็นไปได้เช่นกัน
วงจรชีวิตของเชื้อที่ผมเขียนขึ้นจากเอกสารทางวิชาการหลายๆอัน (รูปที่ 1)โดยผมจะเริ่มอธิบายทางซ้ายมีด้านบนก่อนนะครับ สปอร์ของเชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม สปอร์นั้นมีความทนทานในสิ่งแวดล้อมมากครับ พูดง่ายๆว่าถ้าไม่โดนแสงแดด ร่วมกับมีความชื้นหน่อยๆนี่ก็อยู่ยาวเป็นเดือนเลยครับ จากนั้นกระต่ายจะได้รับเชื้อเข้าไป โดยทางหลักคือการกิน สำหรับทางเดินหายใจก็เป็นไปได้ แต่ในความเห็นของผมคิดว่าเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากมีการทดลองโดยเอาเชื้อใส่เข้าไปในจมูกกระต่ายโดยตรงเลย ต้องใช้ปริมาณของเชื้อมากพอสมควร ซึ่งในธรรมชาติการสูดดมเชื้อปริมาณมากขนาดนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ส่วนทางรกนั้นก็จะทำให้เกิดปัญหาลูกเกิดมาตาย คอเอียง ขาแปร ตั้งแต่ยังเด็กครับ จากระบบที่เข้ามาเชื้อจะพยายามเข้าสู่กระแสเลือด แล้วจึงไปสู่อวัยวะเป้าหมาย การที่เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ในความคิดของผมคิดว่าเชื้อไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้เนื่องจากไม่มีอวัยวะเคลื่อนที่ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคงทำลายเชื้อไปก่อนจะถึงที่หมายแน่ ถ้าภูมิคุ้มกันของเราปกตินะ ดังนั้นความเชื่อส่วนมากตอนนี้คือ มีเซลล์ทางระบบผู้คุ้มกันของร่างกายเราจับเชื้อแล้วไม่สามารถทำลายได้แล้วนำพาเชื้อไปสู่อวัยวะเป้าหมาย ซึ่งจุดนี้ต้องการการวิจัยพิสูจน์ต่อไป อย่างนั้นผมของตัดมาตอนที่เชื้อจะไปสู่อวัยวะเป้าหมาย ซึ่งอวัยวะที่เชื้อชอบที่สุดคือเซลล์ไต เชื้อจะใช้อวัยวะพิเศษเรียกว่า polar tube เจาะเข้าไปในเซลล์ จากนั้นก็จะเพิ่มจำนวนเข้าสู่ระยะต่างๆ ในที่สุดก็จะได้สปอร์ซึ่งเป็นระยะติดเชื้อออกมาจำนวนมากทำให้เซลล์ที่อาศัยอยู่แล้วสปอร์ก็ออกมา เชื้อสามารถกลับไปติดเซลล์ไตเช่นเดิม หรือไปอวัยวะอื่นดังเช่น  ตับ หัวใจ กระจกตา และสมอง หรืออาจจะออกปนไปกับปัสสาวะสู่สิ่งแวดล้อม โดยระยะเวลาตั้งแต่กินเชื้อจนมีเชื้อออกมาทางปัสสาวะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เท่านั้น

รูปที่ 1 แสดงวงจรชีวิตของเชื้อ E.cuniculi

                ผมขอเขียนบทความตอนนี้จบที่นี้ก่อนครับ แล้วเจอในบทความในตอนต่อไป ซึ่งจะเขียนเกี่ยวกับการแพร่ระบาด และอาการค ถ้ามีคำถาม หรือข้อเสนอแนะก็บอกมาได้เลยครับ
__________________________________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น