หัวข้อ

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

Talk:กระต่ายคอเอียง3



Talk: กระต่ายคอเอียง ตอนที่ 3 (วิธีการตรวจ การรักษา)




                หลังจากเชื้อชนิดนี้มีการแพร่ระบาด และสร้างปัญหาในหลายประเทศ นักวิจัยได้มีการคิดค้นวิธีการตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันการติดเชื้อหลากหลายวิธี เนื่องจากกระต่ายส่วนมากที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการใดๆ วิธีการตรวจที่มีความถูกต้องและแม่นยำย่อมมีความจำเป็นเพื่อบ่งบอกการมีเชื้ออยู่ในฟาร์มได้เป็นอย่างดี วิธีการตรวจสามารถหาได้สองอย่างคือ หาตัวเชื้อ (Antigen) และ หาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากสัตว์ (Antibody) ซึ่งจะกล่าวดังต่อไปนี้
                การตรวจหาตัวเชื้อ หรือแอนติเจน พูดง่ายๆก็คือการหาตัวเชื้อเลย เหมือนกับว่าเราเจอตัวพยาธิชัดๆเลยประมาณนี้ ดังนั้นถ้าผลบวกจากวิธีการตรวจดังกล่าวก็บอกได้ว่ามีเชื้อดังกล่าวจากตัวอย่างที่นำมาใช้ตรวจ การตรวจหาตัวเชื้อในเชื้อชนิดนี้ต้องใช้ตัวอย่างจาก สมอง ตา ตับ ไต หัวใจ ของกระต่ายมาตรวจซึ่งวิธีการตรวจมีดังนี้
                1. กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีมาตรฐาน (Gold standard) แต่อย่างว่าชีวิตจริงใครจะเอาไปตรวจT-T
                2. การศึกษาทางจุลพยาธิวิทยาร่วมกับการย้อมสี หรือพูดง่ายๆคือตัดไสลด์แล้วย้อมสี สำหรับสีที่ผมแนะนำคือสี Uvitex2B นะครับ เพราะเห็นชัดและง่ายที่สุด เราจะเห็นเป็นสีเรื่องแสงชัดเจนมาก
                3. การตรวจหาสารพันธุกรรม หรือหาดีเอนเอนั่นเอง
                การตรวจหาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากสัตว์ (Antibody) จะสามารถบอกได้เพียงว่าครั้งหนึ่งสัตว์ดังกล่าวเคยได้รับเชื้อเท่านั้น ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่าแอนติบอดี้คืออะไร แอนติบอดี้ คือโปรตีนขนาดใหญ่ในระบบภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสัตว์ได้สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา หรืออธิบายได้ว่าเวลาร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม จากนั้นร่างกายต้องการกำจัดออกไป วิธีหนึ่งที่จะกำจัดออกไปได้คือการสร้างแอนติบอดี้ซึ่งมีความจำเพาะต่อเชื้ออย่างมาก หมายความว่าถ้าเราติดเชื้อ A ร่างกายก็จะสร้างแอนติบอดี้ต่อเชื้อ A ออกมา ดังนั้นวิธีการตรวจก็จะหาแอนติบอดี้ A ถ้าการตรวจเจอก็สามารถบอกได้ว่า ร่างกายได้สร้างมีการต่อต้านเชื้อ A ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าร่างกายเคยได้รับเชื้อมาก่อน แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าในขณะนี้ยังมีเชื้ออยู่หรือร่างกายได้กำจัดเชื้อไปแล้ว ตัวอย่างที่ใช้ตรวจก็คือเลือด ซึ่งปัจจุบันมีวิธีดังนี้
         1. Enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) และ Carbon immune assay (CIA) ซึ่งสองวิธีนี้ได้มีรายงานการใช้ในประเทศไทยแล้ว โดยวิธีดังกล่าวเราสามารถสั่งซื้อชุดตรวจจากบริษัทแล้วมาตรวจได้
                2. Indirect fluorescent assay (IFA)
                3. Direct agglutination
สำหรับการรักษามียาที่สามารถเลือกใช้ได้สองตัวดังนี้ครับ
1. Albendazole ขนาด 20-30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้วันละครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นลดขนาดยาเป็น 15 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ให้วันละครั้ง ต่อเนื่องอีก 1 เดือน โดยให้ทางการกิน
2. Fenbendazole ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้วันละครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน โดยให้ทางการกิน
โดยส่วนมากมักให้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย เนื่องจากเชื้อจะอยู่ในเซลล์แล้วออกจากเซลล์ด้วยการทำให้เซลล์แตกออกมาดังนั้นต้องมีการอักเสบที่อวัยวะที่เชื้ออยู่อย่างแน่นอน หลังจากที่ไม่มี Caprofen ก็สามารถใช้ Tramadol แทนได้ครับ
ครับผม สำหรับบทความครั้งต่อไปจะเป็นตอนจบนะครับ ถ้าใครมีวิธีการรักษาที่แตกต่างออกไปก็สามารถมาพูดคุยกันได้ครับ
__________________________________________________________________________________________________________________
ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไรก็ตามทีมงานไม่สามารถที่รับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความในเอกสารนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการ และมิได้เป็นการชี้นำ การตัดสินใจใดๆของผู้อ่าน ไม่ว่าเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นวิจารณญาณของผู้อ่าน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดกับทีมงานไม่ว่ากรณีใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น